[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by KMOBECMAXSITE 1.2.1
    


วิชาการ
เรื่อง : บริบทใหม่การศึกษาไทย ในทศวรรษหน้า
บทความ



 

บริบทใหม่การศึกษาไทย ในทศวรรษหน้า
บริบทของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (2555-2559)
                   สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำลังระดมทรัพยากรของประเทศทุกส่วน เข้าสู่การกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559) โดยมองไปข้างหน้าถึงวิสัยทัศน์ พ.ศ.2570 เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต อย่างน้อย 15 ปี เอกสารการนำเสนอส่วนหนึ่งได้วิเคราะห์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน โดยเสนอให้ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นทางเลือกของเศรษฐกิจไทย” เพื่อให้ประเทศไทยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จากการพึ่งพิงปัจจัยการผลิตราคาถูก (Factor-driven Economy) ไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) โดยมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีสัดส่วน ร้อยละ 14-17 ของรายได้ประชาชาติ ถือว่าไม่น้อยทีเดียว
            เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์งาน และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงรากฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม และเทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ มรดกทางวัฒนธรรม ศิลปะ สื่อ และงานสร้างสรรค์ตามลักษณะงาน โดยสภาพัฒน์ได้เสนอแนวทางพัฒนาออกมาถึง 19   ประเภทอุตสาหกรรมหลักด้วยกัน
1.การโฆษณา 
2. สถาปัตยกรรม 
3.การออกแบบ 
4.แฟชั่น 
5.ภาพยนตร์และวิดีโอ 
6.ฮาร์ดแวร์ 
7.ท่องเที่ยว 
8.วรรณกรรม 
9.ดนตรี 
10.พิพิธภัณฑ์ 
11.การพิมพ์-สื่อสิ่งพิมพ์ 
12.ซอฟต์แวร์ 
13.กีฬา 
14.ศิลปะการแสดง 
15.การกระจายเสียง 
16.วิดีโอเกม 
17.ทัศนศิลป์ การถ่ายภาพ งานฝีมือ
18.อาหาร
19.การแพทย์แผนไทย
         สภาพัฒน์ยังได้สรุปปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับการศึกษาไว้ส่วนหนึ่งว่า “หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ค่อนข้างน้อย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับมหภาค จึงขาดการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตรายสาขา” ซึ่งสถาบันการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างองค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนา เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบนั่นเอง
        เห็นได้ชัดเจนว่า ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จะต้องมุ่งนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะมีตัวเลขของมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้สูงยิ่ง กับมี Best Practice ทั้งในสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และฮ่องกง ที่เน้นทั้งโครงสร้างและระบบประสบผลสำเร็จมาแล้ว ไม่ต้องอื่นไกล ดูจากญี่ปุ่นที่เป็นต้นแบบสินค้าชุมชน เกาหลีเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมสื่อ อาหารและวัฒนธรรมอย่างโดดเด่นมาแล้ว เช่นกัน สำหรับประเทศไทยมรดกทางวัฒนธรรมมีล้นเหลือ ควบคู่ไปกับภูมิปัญญาชาวบ้าน และท้องถิ่นมากพอจะพัฒนาได้ แต่ต้องจัดโครงสร้างให้เป็นระบบ และมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ คงต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ดังกล่าวด้วย
         ดังนั้นแผนการศึกษาชาติ แผนพัฒนาอุดมศึกษาระยะยาว แผนการจัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษา รวมถึงทศวรรษที่ 2 ของการปฏิรูปการศึกษา พึงต้องขยายหรือเน้นการศึกษาและวิจัยใน 5 เรื่องใหญ่ๆ เช่น
 1.มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา และความหลากหลายทางชีวภาพ
 2.เอกลักษณ์ศิลปะและวัฒนธรรม
 3.งานช่างฝืมือ และหัตถกรรม
 4.อุตสาหกรรมสื่อ บันเทิง และซอฟต์แวร์
 5.การออกแบบและพัฒนาสินค้าเชิงสร้างสรรค์
             การจัดการศึกษาพึงได้บูรณาการ จัดทรัพยากรให้เกิดคลัสเตอร์ ที่จะนำไปสู่ “นวัตกรรม” ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีงบประมาณจากภาครัฐ สนับสนุนและกำหนดตัวชี้วัดให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะงบประมาณไทยเข้มแข็ง 45,389 ล้านบาท ที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับ พึงต้องแบ่งมาให้สถาบันที่จัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ด้วย
          เป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษหน้า   เห็นเพียงโครงการพัฒนาครูยุคใหม่เท่านั้น ที่พอมองเห็นเค้าโครง ส่วนการสร้างคนยุคใหม่ การสร้างแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่และการจัดการศึกษายุคใหม่ ยังมองไม่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน หากจะนำบริบทของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจใหม่ในอนาคตผนวกไว้ในโครงการพัฒนาไว้ด้วย น่าจะส่งผลสัมฤทธิ์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ได้มากทีเดียว
 
บทความของ ดร.วิชัย พยัคฆโส


ดาวน์โหลดไฟล์แนบ

ผู้เขียน : khunsuphot
หน่วยงาน : สพท.สป.2
ศุกร์ ที่ 6 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2553
เข้าชม : 4407
3.5 stars เฉลี่ย : 3.5 จาก 3 ครั้ง.


วิชาการ 5 อันดับล่าสุด

      ประเทศไทยได้อะไรบ้างจากสมาคมอาเซี่ยน 22 / ต.ค. / 2555
      ความรู้เกี่ยวกับระบบ 3G 22 / ต.ค. / 2555
      คู่มือการประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้มีวิทยฐานะและหรือเลื่อนวิทยฐานะสายงานการบริหารการศึกษา (ว.17) 18 / ต.ค. / 2555
      ความดันโลหิตสูงสาเหตุเกิดจากอะไร 18 / ต.ค. / 2555
      ภาษาไทยวันคะมำ 26 / ก.ค. / 2555


เชิญร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์จัดการความรู้
สิทธิของสมาชิก สามารถบันทึกขุมความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดาวน์โหลดได้
คลิกที่นี่สมัครสมาชิก