[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by KMOBECMAXSITE 1.2.1
    


วิชาการ
เรื่อง : การเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web-Based Instruction)
บทความ



 

 

การเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web-Based Instruction)
 
            ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก การใช้อินเทอร์เน็ตจะช่วยให้วิถีชีวิตของคนปัจจุบันทันเหตุการณ์ เพราะอินเทอร์เน็ตจะเสนอข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยอีกทั้งเป็นแหล่งสารสนเทศสำหรับทุกวงการที่สามารถค้นหาสิ่งที่ต้องการได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางด้วยเหตุนี้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลสารสนเทศจากทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน อย่างไรก็ตามประโยชน์ของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่ได้จำกัดเฉพาะในวงธุรกิจเท่านั้นในวงการศึกษาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการศึกษาได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อการติดต่อสื่อสาร อภิปราย ถกเถียง แลกเปลี่ยน และสอบถามข้อมูลข่าวสารความคิดเห็นทั้งกับผู้สนใจศึกษาในสื่อเรื่องเดียวกัน หรือกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ทั้งนี้การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาในต่างประเทศ จากการสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการของประเทศสหรัฐอเมริกา (Department of Education) โดย National Center for  Education Statistics (NCES) ได้ทำการสำรวจการใช้เทคโนโลยีในโรงเรียนของรัฐในระดับประถม ศึกษาและมัธยมศึกษา ตั้งแต่ปี ค.ศ.1994 และได้ข้อสรุปในปี ค.ศ.2000 พบว่าร้อยละ 98 ของโรงเรียนได้ มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และร้อยละ 77 ของห้องเรียนได้มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ยังพบว่าร้อยละ39 ของครูที่ใช้อินเทอร์เน็ตใช้เพื่อจัดทำหลักสูตรการสอน จะเห็นได้ว่าอินเทอร์เน็ตได้ กลายเป็นสื่อการศึกษาของโลกยุคใหม่ ช่วยเปิดโลกกว้างให้แก่ผู้เรียนและเป็นแหล่งรวบรวมขุมทรัพย์ ทางปัญญาอย่างมากมายมหาศาล ในลักษณะที่สื่อประเภทอื่นไม่สามารถกระทำได้ ผู้เรียนจะมีความ สะดวกต่อการค้นหาข้อมูลไม่ว่าจะอยู่สถานที่ใดก็สามารถเข้าไปใช้เครือข่ายได้ อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่า จะเป็นการศึกษาในลักษณะที่เรียนร่วมกันหรือเรียนต่างห้องกันหรือแม้กระทั่งต่างสถาบันกัน ก็สามารถแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่องได้ตลอดเวลาทั้งระหว่างครูกับนัก เรียนและระหว่างผู้เรียนเอง  เครือข่ายคอมพิวเตอร์จะเป็นตัวเชื่อมให้ผู้เรียนเข้าถึงผู้ให้คำปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง อีกทั้งยังเอื้อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนทั้งเวลาจริงหรือต่างเวลากัน ทำให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่ต้องมีการประสานงานกัน (Collaborative environment) ผู้เรียนสามารถควบคุมจังหวะการเรียน ได้ด้วยตนเองทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมยืดหยุ่นแก่ผู้เรียน (วรัท พฤกษากุลนันท์,2551)
             กรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ที่สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2554-2559) ระบุถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไว้ว่าให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้ทันสมัยและเพียงพอเพื่อเป็นกลไกพัฒนาคุณภาพประสิทธิภาพและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของประชาชนในทุกระดับและประเภทการศึกษาในสัดส่วนสูงขึ้น (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2551) ซึ่งสอดคล้องกับ กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศระยะ พ.ศ.2544-2553 ของประเทศไทย ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านการศึกษาที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีโดยมุ่งเน้นการสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เอื้อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสารสนเทศเนื้อหาและความรู้ (สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ, 2545)
ดังนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ ทั้งในระบบ  นอกระบบ และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย โดยการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยการเรียนการสอน โดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตมีต้นทุนในการจัดการศึกษาที่ต่ำกว่าการศึกษาในชั้นนเรียน ทั้งนี้หากเปรียบเทียบต้นทุนทั้งหมด (Total cost) การจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการเรียนรู้ในชั้นเรียนถึงร้อยละ 40 นอกจากนี้ผู้เรียนยังสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลาและทุกคน (anywhere anytime  anyone) และ ไม่ว่าจะทำการศึกษา ณ สถานที่ใด การเรียนรู้ผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตจะยังคงมีเนื้อหาเหมือนกันและมีคุณภาพที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังสามารถวัดผลของการเรียนรู้ได้ดีกว่า ทำให้ผู้เรียนมีเสรีภาพในการเลือกเนื้อหาสาระของการเรียนรู้โดยไม่ถูกจำกัดอยู่ภายใต้กรอบของหลักสูตร ผู้เรียนสามารถกำหนดเส้นทางการเรียนรู้ของตนเองได้ (Self-pace learning) ตามความสนใจและความถนัดของผู้เรียน  การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับหรือเป็นโปรแกรมแบบเส้นตรง แต่ผู้เรียนสามารถข้ามขั้นตอนที่ตนเองคิดว่าไม่จำเป็นหรือเรียงลำดับการเรียนรู้ของตนเองได้ตามต้องการ แต่ในสภาพปัจจุบันการ จัดการเรียนการสอนถูกจำกัดเฉพาะในห้องเรียนและอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของผู้สอน ซึ่งผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างระหว่างบุคคล มีความรู้ความเข้าใจ ประสบการณ์และการมองโลกแตกต่างกัน ออกไป รวมถึงรูปแบบการจัดชั้นเรียนในปัจจุบันไม่สามารถที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็น รายบุคคลได้ การเรียนการสอนไม่ควรยึดติดกับวิธีเดิม ในขณะที่สิ่งใหม่หรือสิ่งที่กำลังพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย ทั้งในด้านงบประมาณในการลงทุนจัดทำ ข้อจำกัดในด้านเวลาและสถานที่การใช้งานและขาดความยืดหยุ่นของเนื้อหาบทเรียน ทำให้การนำมาใช้ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ถึงแม้โรงเรียนส่วนใหญ่สนใจและต้องการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาในการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก
            การนำประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตในใช้ในการพัฒนาบทเรียน จึงเป็นการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนที่ประยุกต์คุณลักษณะของอินเทอร์เน็ต โดยนำทรัพยากรที่มีอยู่ในเวิลด์ไวด์เว็บ  (World Wide Web) มาเป็นสื่อกลางเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิง เอกสารประกอบการเรียน บทเรียนสำเร็จรูป หรือแม้กระทั่งหลักสูตรวิชา เนื่องจากเวิลด์ไวด์เว็บเป็นบริการบนอินเทอร์เน็ตที่มีแหล่งข้อมูลอยู่มากมายและหลายรูปแบบ ทั้งตัวอักษร  ภาพนิ่ง การเคลื่อนไหวหรือเสียงโดยอาศัยคุณลักษณะของการเชื่อมโยงหลายมิติ (Hyperlink) ทั้งในรูปแบบของข้อความหลายมิติ (Hypertext) หรือสื่อหลายมิติ (Hypermedia) เพื่อ เชื่อมโยงแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยกัน เป็นการนำประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการค้นคว้าข้อมูลในการเรียนรู้ด้วยตนเองและสนองตอบแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็น หลัก นั่นคือมิใช่การ สอนที่เป็นการถ่ายทอดความรู้จากครูผู้สอนเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการที่หลากหลายและเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา โดยใช้เทคโนโลยีและสื่อสารสารสนเทศต่างๆให้เป็นประโยชน์ ซึ่งสื่อต่างๆเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และแก้ปัญหาได้อย่างอิสระ ทั้งนี้เพราะข้อมูลบนเว็บมีลักษณะเป็นพลวัตร (Dynamic) ทำให้เนื้อหาการเรียนมีความยืดหยุ่นมากกว่าแบบเดิม และเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญและเปิดโอกาสให้ผู้สอนสามารถปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรให้ทันสมัยได้อย่างสะดวกสบาย           (วรัท พฤกษากุลนันท์,2551)
            จากกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกยุคไร้พรมแดนและกรอบนโยบายการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทย การจัดการศึกษาจึงควรจะพัฒนาให้เหมาะสมกับโลกปัจจุบัน มีการสนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการศึกษาหาความรู้ ดังนั้นการพัฒนาบทเรียนผ่านเว็บ (Web-Based Instruction) จึงนับเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาที่มีความทันสมัย เหมาะสมกับการจัดการศึกษาในอนาคต  ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนจะสามารถค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตัวเองในทุกเวลา ทุกสถานที่ นอกจากนี้ยังช่วยในการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน และระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง
 
รายการอ้างอิง
วรัท พฤกษากุลนันท์.2551. การเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web-Based Instruction) กับการเรียนการสอนยุคใหม่. [Online]. แหล่งที่มา http://www.edtechno.com/new/mod/forum/discuss.php?d=5 [19 กุมภาพันธ์ 2552]
สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ. 2545. กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศระยะ พ.ศ.2544-2553. ของประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2551. กรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ที่สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.             2554-2559). กรุงเทพ: สำนักงานเลขาธิการสภาการ


ดาวน์โหลดไฟล์แนบ

ผู้เขียน : khunsuphot
หน่วยงาน : สพท.สป.2
ศุกร์ ที่ 6 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2553
เข้าชม : 2697
Not Rated stars เฉลี่ย : Not Rated จาก 0 ครั้ง.


วิชาการ 5 อันดับล่าสุด

      ประเทศไทยได้อะไรบ้างจากสมาคมอาเซี่ยน 22 / ต.ค. / 2555
      ความรู้เกี่ยวกับระบบ 3G 22 / ต.ค. / 2555
      คู่มือการประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้มีวิทยฐานะและหรือเลื่อนวิทยฐานะสายงานการบริหารการศึกษา (ว.17) 18 / ต.ค. / 2555
      ความดันโลหิตสูงสาเหตุเกิดจากอะไร 18 / ต.ค. / 2555
      ภาษาไทยวันคะมำ 26 / ก.ค. / 2555


เชิญร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์จัดการความรู้
สิทธิของสมาชิก สามารถบันทึกขุมความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดาวน์โหลดได้
คลิกที่นี่สมัครสมาชิก