[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by KMOBECMAXSITE 1.2.1
    


วิชาการ
เรื่อง : การศึกษา กับ ประชาธิปไตย
บทความ



 

การศึกษา กับ ประชาธิปไตย
                        รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยที่ร่างขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเดือนมิถุนายน 2475 ได้ระบุถึงความจำเป็นในการยังคงไว้ซึ่งสมาชิกภาพของผู้แทนราษฎร 2 ประเภท คือ ประเภทแรก เป็นสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป และประเภทที่สอง เป็นสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งโดยสภาสูงของคณะปฏิวัติโดยรัฐธรรมนูญฉบับเดี่ยวกันระบุต่อไปว่า การดำรงอยู่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทหลังนี้จะถูกยกเลิก เมื่อไรก็ตามที่ประชากรไทยจำนวนเกินครึ่งได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน(ซึ่งใช้เวลาในการเรียน 4 ปี)ดังนั้น ในการทำสำมะโนประชากรไทยในปี 2480 อันนับเวลาได้ห้าปีหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย ระบุว่าประชากรไทยในปีนั้นมีจำนวน 14.5 ล้านคน ซึ่งในนั้นมีจำนวนประชากร 6.8 ล้านคน(หรือคิดเป็น 68.9%)ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 10 ปี เป็นผู้ที่ไม่รู้หนังสือ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลในสมัยนั้นจึงจำเป็นต้องคงไว้ซึ่งสมาชิกภาพของผู้แทนราษฎรประเภทที่สองนี้ไว้บนเวทีการเมืองไทยอยู่อีกต่อไปประสบการณ์ทั่วไปของหลายประเทศแสดงให้เห็นจริงว่า ยิ่งระดับการศึกษาของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีการยกระดับมากขึ้น การพัฒนาทางการเมืองก็ดำเนินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยและความมั่นคงมากยิ่งขึ้นเช่นกัน กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่กันไปกับการพัฒนาสังคมในด้านอื่นๆ เช่นเดียวกันการศึกษาเป็นเงื่อนไขที่สำคัญของการพัฒนาการเมืองแบบประชาธิปไตย เพราะการศึกษาคือเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการกล่อมเกลาจิตสำนึกของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ที่จะเอื้ออำนวยต่อการสร้างสร้างรูปแบบของการตัดสินใจร่วมกันของสมาชิกของสังคม อันถือเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกของสังคมเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่น ความสมานฉันท์ทั้งในด้านเป้าหมาย ทิศทาง และปฏิบัติการทางสังคมร่วมกัน ในอันที่จะพัฒนาสร้างสรรสังคมไปสู่ความมั่นคงผาสุก
เริ่มจากตนเอง สู่ สังคม
สิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นประชาธิปไตย” นั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่แต่ละคนสามารถหยิบยื่นให้แก่กันและกันได้จากมือหนึ่งสู่อีกมือหนึ่ง เพราะก่อนอื่นใด การพัฒนาประชาธิปไตย ก็คือการพัฒนาบุคลิกภาพ(personality)ของคนแต่ละคน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพของสังคมโดยรวม อันถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นหรือถูกเนรมิตให้เป็นจริงขึ้นได้ในช่วงระยะอันสั้น แต่เป็นกระบวนการเคลี่คลายเปลี่ยนแปลงในชีวิตของคนและของสังคมภายใต้มิติของเวลาที่ยืดเยื้อยาวนาน
ดังคำกล่าวของนักปราชญ์ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในบรรดาปรมาจารย์ทางวิภาษวิธีของตะวันออก คือขงจื้อ ที่บอกไว้ว่า “หากแผนการท่านมีเวลาแค่หนึ่งปี ขอให้ปลูกข้าว สิบปีให้ปลูกต้นไม้ และหากถึงร้อยปี ขอให้ขัดเกลา อบรมบ่มเพาะคน” การพัฒนาดังกล่าวจึงต้องเริ่มจากการยกระดับภาวะจิตใจของแต่ละคนด้วยการเรียนรู้และการพัฒนาหล่อหลอมตนเองของแต่ละคน จากการบ่มเพาะในครอบครัว ในชุมชุม ไปสู่การหล่อหลอมขัดเกลาจากสิ่งแวดล้อมของสังคมใหญ่ รากฐานสำคัญของความเป็นประชาธิปไตยจึงต้องเริ่มจากการที่คนแต่ละคนรู้จักตนเอง รู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเอง มีวินัยประชาธิปไตยทั้งทางความคิดและการกระทำโดยเริ่มจากตนเอง ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญของการรู้จักและเข้าใจผู้อื่น เพื่อที่จะรู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยการเคารพในสิทธิ หน้าที่ รวมทั้งการเคารพต่อสภาพความเป็นจริงที่หลากหลายของคนในสังคม เงื่อนไขข้างต้นนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยทั้งของปัจเจกและของในสังคมโดยรวมนั่นเองด้วยเหตุนี้ สิ่งแวดล้อมจึงมีผลต่อชีวิตคนแต่ละคน ลักษณะสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างใด จะมีอิทธิพลบ่มเพาะสร้างนิสัยใจคอคนแต่ละคนออกมาเป็นอย่างนั้น เริ่มจากครอบครัวสู่สังคมรอบกาย กล่าวคือ คนแต่ละคนที่ถูกหลอมกันมาจากแต่ละสิ่งแวดล้อมที่อาจต่างหรือคล้ายๆ กัน มาอยู่ด้วยกันและหล่อหลอมรวมกันเกิดเป็นร่างกายของสังคมใหญ่ ฉันใดฉันนั้น การศึกษาเป็นเงื่อนไขของประชาธิปไตย จึงหมายความว่า “การที่คนได้มีโอกาสในการศึกษาที่ดี จะเป็นหลักประกันของการนำไปสู่การพัฒนาเสริมสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ดีเช่นเดียวกัน” การทำให้คนส่วนใหญ่มีโอกาสทางการศึกษาจึงเป็นการวางรากฐานสังคมประชาธิปไตยในความหมายดังกล่าว  
ด้วยเหตุนี้ที่ในบางครั้ง เราจึงเห็นคำศัพท์ที่ใช้ในการอธิบายความเกี่ยวกับการขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่คนส่วนใหญ่ โดยใช้คำว่า “democratization” อันเป็นคำนาม ซึ่งแปลว่า “การทำให้ไปสู่ประชาชน” หรือ “การทำให้เป็นของประชาชน” นั่นเอง
ก้าวย่างการเรียนรู้ประชาธิปไตยจากอดีต-ปัจจุบันของสังคมไทย
นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ประเทศไทยได้ผ่านหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองที่สำคัญๆหลายครั้ง ซึ่งจะขอกล่าวถึงเพียง 3 ครั้ง คือ : การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475, เหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516, และเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งทั้งสามเหตุการณ์นี้ต่างเกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นจุดหลักเหตุการณ์ครั้งแรก เป็นการทำรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองของประเทศสยาม จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กลุ่มคนผู้ก่อการสองกลุ่มร่วมมือกันเพื่อกระทำการดังกล่าว อันได้แก่ผู้ร่วมก่อการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ผู้ซึ่งเป็นผลิตผลจากการพัฒนาระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่ได้มีการวางรากฐานขึ้นมาในประเทศตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา
ซึ่งจำนวนหนึ่งในกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีโอกาสไปใช้ชีวิตและศึกษาหาความรู้อยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา ฝ่ายแรกนำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนักเรียนการทหารของโรงเรียนนายร้อยFontainebleau ประเทศฝรั่งเศส และฝ่ายที่สองนำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ดุษฎีบัณฑิตด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์จากประเทศเดียวกันนี้เหตุการณ์ครั้งที่สอง เกิดขึ้นภายใต้ภาวะการณ์ของปัญหาและความสับสนในทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมในประเทศ ปัญหาการขาดความเป็นประชาธิปไตยและการครอบงำของทหารบนเวทีการเมืองของประเทศ กลุ่มคนที่มีความอ่อนไหวที่สุดต่อภาวะการณ์ดังกล่าวคือปัญญาชนและผู้ที่มีการศึกษา ซึ่งก็คือผลิตผลที่เกิดจากระบบการศึกษาซึ่งรัฐได้พัฒนาและขยายฐานของโอกาสแก่ประชาชนอย่างกว้างขวางมากขึ้นตั้งแต่ระยะหลังปี 2500 เป็นต้นมา อันเป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ระบบของแผนแม่แบบ(indicative planning) นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนนับแสนรวมตัวกันที่ใจกลางกรุงเทพมหานครโดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องแสวงหาความเป็นประชาธิปไตยทางการเมืองของประเทศ เหตุการณ์ครั้งนี้จบลงด้วยความรุนแรงบนถนนราชดำเนินและการลงจากอำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจรและคณะ ซึ่งอยู่ในอำนาจการปกครองประเทศมาตั้งแต่ต้นคริตทศวรรษ 1960    ภายหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายเกิดสำเหนียกว่า ปัญหาประชาธิปไตยเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงแต่ในระดับยอดของสังคมเท่านั้น แต่ต้องนำพาให้เกิดการพัฒนาจิตสำนึกของความเป็นประชาธิปไตยส่วนฐานของสังคม คือการประชาชนส่วนใหญ่ อันถือเป็นพลังทางสังคมที่สำคัญของประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคชนบทซึ่งยังถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในประชาธิปไตยมากกว่าส่วนอื่นของสังคม ดังนั้น ในช่วงปี 2516-2519 นิสิตนักศึกษา ปัญญาชนส่วนหนึ่งได้เดินทางมุ่งหน้าสู่ชนบทเพื่อเผยแพร่และขยายแนวคิดประชาธิปไตยสู่ประชาชนชาวไร่ชาวนา อันเป็นเวลาช่วงเดียวกันกับที่สงครามเย็นในภูมิภาคอินโดจีนดำเนินไปสู่ก้าวย่างของชัยชนะของฝ่ายสังคมนิยม ข้อที่น่าสังเกตของสองเหตุการณ์แรกนี้ ก็คือ ผลกระทบทางสังคมดูจะจำกัดอยู่แต่เพียงในหมู่คนที่มีการศึกษาและเป็นคนกลุ่มน้อย แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศที่ดิ้นรนทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องอยู่ในท้องไร่ท้องนาและตามชุมชนแออัดในเมือง ยังดูมีความรู้สึกห่างไกลต่อเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น การขาดโอกาสในการรับรู้ข่าวสารทั้งโดยการเรียนและการติดตามหาความรู้จากแหล่งข่าวสารความรู้ของบุคคลกลุ่มนี้ เป็นหนึ่งในหลายๆเหตุผลสำคัญในความรู้สึกห่างเหินดังกล่าว ความไม่รู้ทำให้ไม่มองเห็นความสำคัญ การมองไม่เห็นความสำคัญ ทำให้ไม่เกิดสำนึกต่อการมีส่วนร่วมในการกระทำการ อันถือเป็นภววิสัยที่เป็นสิ่งปกติของมนุษย์ปุถุชนทั่วไป เหตุการณ์ครั้งที่สาม โดยที่ความพยายามของทหารที่จะมามีบทบาทอิทธิพลทางการเมือง ทั้งในช่วงก่อนและหลังปี 2516 มีอยู่เสมอมา อันเป็นความพยายามที่มาจากเหตุผลหลายประการ ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 คือในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2534 คณะทหารที่ใช้ชื่อย่อว่า “รสช” ได้ทำการยึดอำนาจรัฐจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งปี 2531 โดยให้เหตุผลถึงความไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน การแก้ปัญหาของประเทศ รวมทั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวง อันเป็นเหตุผลเพื่อความชอบธรรมของการกระทำการดังกล่าว
และหลังการรัฐประหาร รสช.ได้แต่งตั้งพลเรือนคือนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว เพื่อเตรียมการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคมของปีต่อมา พร้อมกันนั้นก็ได้มีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2521 อันถือว่าเป็นฉบับที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา
นายกรัฐมนตรีคนนี้ได้กลายเป็นแบบอย่างที่ดีในฐานะของนักบริหารและผู้นำประเทศ ด้วยเป็นผู้มีการศึกษาดี มีความเปิดกว้าง มีวิสัยทัศน์และความโปร่งใสในการบริหารงาน หลังรับการแต่งตั้งเขาได้ระดมบุคคลที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในสังคมไทยมาร่วมในคณะรัฐบาลเพื่อสานต่อนโยบายการพัฒนาประเทศที่ดำเนินมาจากรัฐบาลก่อนๆ
ด้วยความเป็นผู้มีหลักการและมีจุดยืนในความถูกต้องเหมาะสม ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของความไม่ชอบธรรม ทำให้รัฐบาลซึ่งนำโดยนายอานันท์ ปันยารชุน ถูกขนานนามอีกชื่อหนึ่งว่า “รัฐบาลหอยลืมเปลือก” ภาวะการดังกล่าวนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นต่อเสถียรภาพทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจของประเทศในสายตาของต่างประเทศ ที่สูญเสียไปในช่วงของการทำรัฐประหารที่เพิ่งจะผ่านมา
ในส่วนภายในประเทศ รัฐบาลชั่วคราวชุดนี้ได้ดำเนินนโยบายเสรีนิยมอย่างกว้างขวาง อันถือเป็นนโยบายที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้นมา โดยเฉพาะการให้เสรีภาพและโอกาสแก่ประชาชนในการแสดงความเห็นอย่างอิสระเสรีมากขึ้น ทำให้สื่อมวลชนแขนงต่างๆมีพลวัตในการทำหน้าที่เสนอข่าวสาร รวมถึงผลิตรายการที่มีเนื้อหาความรู้ มีความสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์แก่สังคมมากขึ้น และตามที่ได้เฝ้ามองและคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านั้นแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็คือการปูทางเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของผู้นำทหารบางคนอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ การขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา คราประยูร ในวันที่ 16 เมษายน 2535 จึงเป็นภาพที่ทำร้ายความรู้สึกของบุคคลบรรดาผู้รักประชาธิปไตยทั่วไป ความไม่พอใจและการชุมนุมคัดค้านของประชาชนเริ่มมีขึ้นพร้อมๆกันทั้งในเมืองหลวงและบรรดาหัวเมืองใหญ่ๆในทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นการคัดค้านความไม่ชอบธรรมของการเข้ามาสู่อำนาจทางการเมืองของผู้นำรัฐบาลคนใหม่นี้ โดยเรียกร้องการลาออกของนายกรัฐมนตรีคนนี้ พร้อมทั้งการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางข้อที่ถูกร่างขึ้นมาภายใต้อิทธิพลของทหารและนักการเมืองผู้สนับสนุน เหตุการณ์ครั้งนี้เริ่มขึ้นด้วยการประท้วงด้วยสันติวิธีและได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่งบนถนนราชดำเนินแห่งนี้ในช่วงวันที่ 17-19 พฤษภาคม และเหตุการณ์นี้สิ้นสุดลงด้วยพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระประมุขที่ออกมาขอให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและช่วยกันทำนุบำรุงบ้านเมืองโดยไม่ถือว่าบ้านเมืองนี้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของทุกๆคนที่จะต้องช่วยกัน นายกรัฐมนตรีสุจินดา ประกาศลาออกจากตำแหน่ง นายอานันท์ ปันยารชุน เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลรักษาการเพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน ขณะเดียวกันก็มุ่งสานต่อภาระกิจที่จำเป็นในการคลี่คลายปัญหาบ้านเมืองที่ได้รับความบอบช้ำในช่วงที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญบางมาตราที่พิจารณาว่าไม่เป็นประชาธิปไตยได้รับการแก้ไขหลังจากนั้น และความตึงเครียดทางการเมืองเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้งหนึ่ง
เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 บอกอะไรกับสังคมไทย ?
วิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งสุดนี้ ได้บ่งชี้วุฒิภาวะทางการเมืองในวิถีของประชาธิปไตยได้ในระดับหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยของการสร้างวุฒิภาวะดังกล่าวคือ ผลพวงของการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยในระยะที่ผ่านมานั่นเองหากจะมานับระยะเวลาเหตุการณ์สำคัญๆในหน้าประวัติศาสตร์ไทยแล้ว เป็นเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ที่เกิดขึ้นนับได้เป็นเวลา 100 ปีพอดีหลังการสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่ 1 เมษายน 2435 และนับได้ 71 ปีหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติในปี 2464 อันถือเป็นความพยายามของรัฐในการขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ฐานล่างของประชากรชาย-หญิงในทุกแห่งหนของประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นนับได้ 60 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เป็นเวลา 35 ปี หลังกึ่งพุทธกาล รวมทั้งเป็นระยะเวลา 31 ปีหลังการนำประเทศเข้าสู่ศักราชของการพัฒนาภายใต้กรอบแผนแม่แบบการพัฒนาการศึกษาโดยการให้โอกาสประชาชนในการเข้าถึงการศึกษาทุกประเภท โดยเฉพาะการศึกษาในระบบและนอกระบบจากในอดีตถึงปัจจุบันอยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย ควบคู่ไปกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้านอื่นๆความพยายามในการพัฒนาการศึกษาไปสู่ความทันสมัยตั้งแต่ในสมัยรัฐกาลที่ 5 ก็คือการวางรากฐานความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกด้านที่จะเกิดขี้นในกาลต่อมา เพราะก่อนอื่น การศึกษาไม่ว่าจะรูปแบบใด ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือของการครอบงำเหมือนที่หลายๆ คนอาจคิดเท่านั้น แต่เมื่อมองอีกด้านหนึ่ง กระบวนการของการศึกษานำไปสู่การผลิตใหม่ด้านจิตสำนึกทางสังคม-การเมืองของประชาชนจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง กล่าวคือเป็นจิตสำนึกของการเริ่มรู้จักคิดและมองสถาพความเป็นจริงรอบการด้วยสายตาที่มีวิจารณญาณ ลดความหวาดกลัวต่อความไม่เป็นธรรม และกล้าวิพากย์วิจารณ์สภาพความจริงของสังคม เห็นความสำคัญและความจำเป็นในอันที่จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงสภาพดังกล่าวไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นๆ ต่อไป และเมื่อแต่ละคนมีจิตสำนึกและความเข้าใจในปัญหาที่พบเห็นอยู่ พวกเขาก็จะกระทำการเพื่อเปลี่ยนแปลงดังกล่าวการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 2475 เกิดขึ้นหลังการสถาปนากระทรวงศึกษาเป็นเวลา 40 ปี ซึ่งระยะแรกๆของการขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่สามัญชน โดยเริ่มจากในเขตพระนครและในเมืองใกล้เคียงรอบนอก เป็นระยะเวลาสี่สิบปีของการผลิตและการสร้างสมสำนึกใหม่ทางสังคม-การเมือง จากเด็กๆร่วมสมัยที่ไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือ โตเป็นคนหนุ่มสาวที่มีแนวคิดและวิสัยทัศน์ใหม่ๆรุ่นแล้วรุ่นเล่า หนึ่งปีสองปีสามปีเป็นสิบปียี่สิบปี พวกเขาโตขึ้นและได้สั่งสมประสบการณ์ทางสังคมการเมืองเพิ่มมากขึ้น พวกเขาอันเป็นผลผลิตของโรงเรียนจึงร่วมกันกระทำการเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองและสังคมไปสู่หนทางของประชาธิปไตยในครั้งนี้
ดังนั้น เมื่อมองเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 จึงจำเป็นต้องมองกระบวนการผลิตใหม่ดังกล่าวที่ดำเนินมาจากอดีต นั่นคือต้องมองย้อนหลังการคลี่คลายพัฒนาการของสังคมในหลายๆด้านในช่วงก่อนหน้านั้น ซึ่ง ณ ที่นี้ จะขอพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาเป็นหลักระหว่างปี 2480 ถึง 2535 ประชากรไทยเพิ่มขึ้นจาก 14.5 ล้านคน เป็น 57.8 ล้านคน และในปีหลังสุดนี้สามารถพูดได้ว่า เกือบทั้งหมดของประชากรในวัยเรียนซึ่งมีอายุระหว่าง 6-11 ปี กำลังอยู่ในสถานศึกษาระดับประถมศึกษา (อันเป็นการศึกษาภาคบังคับซึ่งใช้เวลาเรียน 6 ปี) ประชากรวัยเรียนภาคบังคับซึ่งใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี คิดเป็นจำนวนมีเพียง 65% ในปี 2480 (จากเดิมจำนวน 52.7% ในปี 2475) ที่เป็นจำนวนนักเรียนที่เรียนอยู่ในการศึกษาภาคบังคับในสมัยนั้น ในปี 2503 หรือหนึ่งก่อนก่อนการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง จำนวนนักเรียนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 96.7% ของจำนวนเด็กในกลุ่มอายุดังกล่าว การออกจากโรงเรียนกลางคันของนักเรียนโดยเฉพาะในภาคชนบทถือเป็นปัญหาสำคัญของการจัดการศึกษาในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กล่าวคือในระหว่างปี 2475 ถึง 2538 อัตราเฉลี่ยของการออกกลางคันในปลายปีการศึกษาชั้นประถมปีที่ 1-2-3-4 คิดเป็น 6.2, 13.9, 16.8 และ 44.5% ตามลำดับ โดยเฉพาะในปีสุดท้ายนี้ ไม่ใช่เป็นการออกเนื่องจากการสอบไล่ผ่าน แต่เป็นการออกกลางคันของผู้สอบไล่ไม่ผ่าน การทำให้เกิดการรู้หนังสือ คือ การตระเตรียมประชากรของประเทศไปสู่บริบทใหม่ของการพัฒนา จากสังคมของการสื่อสารกันโดยภาษาพูดเป็นหลัก สู่สังคมของการสื่อสารด้วยภาษาเขียน ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญที่แต่ละคนจะสามารถเข้าสู่โลกของความรู้และข่าวสารที่กว้างขวางขึ้นกว่าที่การสื่อสารกันด้วยภาษาพูดจะให้ได้ นอกจากนั้น การเข้าสู่วัฒนธรรมการใช้ภาษาเขียนถือเป็นเครื่องมือของการสร้างสายใย(cohesion)และความเข้าใจทางสังคมระหว่างกลุ่มคนที่อยู่ต่างฐานะและต่างสถานที่ ในสังคมยุคใหม่การสื่อและความเข้าใจดังกล่าวถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะเอื้อให้เกิดความแน้นแฟ้น(solidarity)ของคนในสังคม อันเป็นลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยนั่นเอง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การรู้หนังสือมิได้มีหมายความแต่เพียงการอ่านออกเขียนได้เท่านั้น หากการที่คนมีโอกาสเรียนรู้ในวัฒนธรรมของการใช้ภาษาเขียน เป็นการสร้างเครื่องมือพื้นฐานให้เพื่อที่จะทำให้เขาเข้าสู่โลกของความรู้และการสื่อสารที่กว้างขึ้น อันเป็นเงื่อนไขที่จะส่งผลให้เขาสามารถพัฒนาความคิด ความอ่าน และพัฒนาทักษะอื่นๆ เพื่อการปรับใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันต่อไปการไม่เข้าโรงเรียนและการออกจากโรงเรียนกลางคันเป็นปรากฏการณ์ที่อธิบายปัญหาภาวะการไม่รู้หนังสือของประชากรไทยในช่วงก่อนเริ่มแผนพัฒนาประเทศ เฉพาะในปี 2480 มีถึง 68.9% ของจำนวนประชากรอายุสิบปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นประชากรสตรี ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 61.1% ของจำนวนทั้งหมด ปัญหาดังกล่าวบรรเทาเบาบางลงในช่วงหลังจากนั้น กล่าวคือจำนวนผู้รู้หนังสือเพิ่มเป็น 53.7% ในปี 2490 และเพิ่มจาก 67.7% ในปี 2503 เป็น 89.5% ในปี 2523
“การศึกษา” จึงได้รับการปฏิบัติในฐานะเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาประเทศตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา ดังปรากฏในคำประกาศของคณะราษฎร์ 6 ข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ประชากรไทย อันถือเป็นภาระกิจสำคัญของรัฐที่จะต้องทำให้สำเร็จ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพประชากร เพราะการมีประชากรที่มีคุณภาพนั้น ถือเป็นตัวชี้ขาดที่แท้จริงของความสำเร็จในการพัฒนาประเทศนั่นเอง หลังระยะแผนพัฒนา ประเทศไทยพัฒนาการศึกษาทุกระดับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการศึกษาในระดับกลางและระดับสูง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการเพิ่มจำนวนของประชากรวัยเรียนอย่างต่อเนื่องทุกระดับ และทั้งที่เป็นประชากรในระบบการศึกษา(formal)และนอกระบบการศึกษา(non-formal) ณ ที่นี้จะขอกล่าวเพียงเป็นตัวอย่างในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาเท่านั้นจากปี 2509 ถึงปี 2533 อันเป็นระยะที่รัฐบาลไทยมุ่งรีบเร่งการขยายโอกาสของการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จำนวนผู้เข้ารับการศึกษาในระดับนี้เพิ่มขึ้นจาก 1.6 แสนคน เป็น 1.4 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มเฉลี่ยอยู่ในระดับ 32.2% ต่อปี อย่างไรก็ตาม แม้โอกาสจะถูกเปิดออก แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสดังกล่าว จากตัวเลขปี 2529 ระบุว่ามีเพียง 34.4% ของเยาวชนไทยที่จบการศึกษาภาคบังคับได้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่เหลือไม่มีโอกาสดังกล่าว ในปี 2533 จำนวนผู้เข้าเรียนในระดับนี้เพิ่มเป็น 41% ซึ่งที่ผู้ขาดโอกาสศึกษาต่อในระดับนี้ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่อยู่ในภาคชนบท โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นภาคที่เยาวชนขาดโอกาสทางการศึกษาในระดับนี้และระดับอื่นๆ มากที่สุด จากสถิติในภาพรวมของปี 2529 ชี้ให้เห็นความแตกต่างของอัตราการเข้าเรียนต่อของประชากรวัยเรียนในกลุ่มอายุนี้ ระหว่างประชากรเยาวชนในกรุงเทพมหานครกับในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่าวชัดเจน กล่าวคือ พบว่า 71% ของจำนวนเยาวชนทั้งหมดในเขตเมืองหลวงที่จบการศึกษาภาคบังคับและได้เข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา ส่วนเยาวชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับนี้มีเพียง 17.1% เท่านั้น ตั้งแต่ระยะแผนพัฒนาฉบับที่ 5 เป็นต้นมา ปัญหาการขยายโอกาสการศึกษาระดับกลางสำหรับเยาวชนวัยเรียนระดับนี้ ถือเป็นภาระกิจสำคัญที่รัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่จะต้องรีบเร่งแก้ไขให้สำเร็จ ปัจจุบันอัตราการเข้าเรียนต่อในภาพรวมของนักเรียนในระดับนี้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 60% แต่ก็ยังถือว่าไม่เพียงพอ หากเปรียบเทียบกับบางประเทศเพื่อนบ้านที่ขยายโอกาสการศึกษาในระดับนี้ไปมากกว่านี้แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกัน (2509-2533) จำนวนผู้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นจากประมาณ 4.5 หมื่นคน เป็นกว่า 1.1 ล้านคน การเพิ่มจำนวนดังกล่าวนี้หมายถึงโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นของประชากรไทยในการเข้ารับการศึกษาในระดับนี้ในสถานการศึกษาอุดมศึกษาประเภทจำกัดรับ โดยเฉพาะการเปิดมหาวิทยาลัยระดับภูมิภาค 3 แห่ง คือที่ จังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลา ทำให้คนในท้องถิ่นใกล้เคียงสามารถมีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับนี้มากกว่าแต่ก่อน
การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเปิดทั้งสองแห่งคือ มหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี 2514 และหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในปี 2523 ขยายโอกาสให้คนหนุ่มสาวในการเข้ารับการศึกษาระดับนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก จาก 1.7 แสนคนในปี 2519 เป็นกว่าหนึ่งล้านคนในปี 2533 อีกด้านหนึ่งอันเป็นผลลัพธ์มาจากการพัฒนาการศึกษาในทุกระดับ คือ ความเปลี่ยนในโครงสร้างของแรงงานในประเทศ กล่าวคือ ในอดีตกำลังแรงงานส่วนใหญ่ไทยมีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาเท่านั้น ซึ่งมีสูงถึง 94.4% ของจำนวนแรงงานทั่วประเทศในปี 2515 และลดลงเหลือเพียง 83.6% ในปี 2533 ซึ่งการลดลงดังกล่าวดำเนินไปควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของจำนวนแรงงานที่มีการศึกษาระดับกลางและระดับสูง เฉพาะผู้ที่จบการศึกษาระดับหลังสุดนี้ จำนวนแรงงานได้เพิ่มจาก 0.3% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด เป็น 3.5% ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ (ข้อมูลจาก “รายงานการสำรวจแรงงานทั่วประเทศ” รอบที่ 3 ในปี 2531, 2532, และ 2533) และจากสถิติปี 2534 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า 53% ของประชากรวัยทำงานซึ่งมีอายุ 13 ปีขึ้นไป เป็นกำลังแรงงานที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา นอกจากนั้นอีก 39% มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และ 8% มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งตัวเลขข้างต้นนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงการยกระดับคุณวุฒิทางการศึกษาของกำลังแรงงานในประเทศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการพัฒนาการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันกลุ่มคนแต่ละกลุ่มนี้กระจายตัวอยู่ในทุกภาคเศรษฐกิจของประเทศ และถือเป็นพลังที่ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศนั่นเอง
สื่อมวลชน : โรงเรียนชีวิตทางสังคมและการเมือง
สื่อมวลชนโดยเฉพาะวิทยุและโทรทัศน์ได้เข้ามามีบทบาททั้งทางด้านข่าวสารความรู้และความบันเทิง ที่นับวันยิ่งเข้าถึงครัวเรือนไทยมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่การเมืองมีความเปิดกว้างไปสู่สังคมประชาธิปไตย อันเกิดขึ้นและดำเนินในท่ามกลางยุคที่เศรษฐกิจได้พัฒนาไปสู่ทิศทางของระบบทุนนิยมเสรีมากยิ่งขึ้น ยุคสมัยดังกล่าวจึงเป็นยุคของความตื่นตัวของประชาชนจากทุกส่วนของสังคมในการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นในกระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ทิศทางของประชาธิปไตยการพัฒนาโดยการสร้างสถานีวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษาที่เกิดขึ้นควบคู่กับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยไม่จำกัดรับทั้งสองแห่งนี้ เป็นการสร้างโรงเรียนทางไกล อันเป็นนวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านนี้มากในระดับสากล โรงเรียนรูปแบบใหม่นี้สามารถเข้าถึงชุมชนได้ทั่วทุกแห่งหน อันมิได้เป็นการมุ่งเพียงเพื่อการตอบสนองด้านการศึกษาต่อผู้ที่สมัครเรียนในสถานศึกษาทั้งสองแห่งนี้เท่านั้น แต่เป็นโรงเรียนทางอากาศที่ให้โอกาสแก่คนผู้สนใจทั่วได้ติดตามหาความรู้ได้ตามความสะดวกด้านหนึ่งเป็นโรงเรียนนี้ทำหน้าที่เพื่อการอนุรักษ์ธำรงไว้ซึ่งมรดกวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทย อีกด้านหนึ่งทำหน้าที่ด้านการเสนอข่าวสารความรู้เพื่อให้ประชาชนได้รู้เท่าทันต่อสภาวะการของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อันจะนำไปสู่การปรับตัวที่เหมาะสมต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงอดังกล่าว ในบริบทของความเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้สื่อมวลชนกลายเป็นตัวเร่งที่สำคัญในการสร้างพลวัต(dynamic)ของกระบวนการพัฒนาประเทศในแต่ละด้าน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ บทบาททางการศึกษาของสื่อมวลชนเพื่อนำไปสู่กระบวนการพัฒนาประเทศ ถือว่ามีความสำคัญและเป็นบทบาทที่ไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป
จากสถิติในปี 2511 ระบุว่าจำนวนครัวเรือนไทยที่มีวิทยุมีอยู่เพียง 44.5% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 73.8% ในปี 2528 ในขณะเดียวกัน ตัวเลขของครัวเรือนที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ได้เพิ่มขึ้นจาก 4.2% เป็น 39.9% ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ สื่อมวลชนสมัยใหม่ทั้งสองประเภทนี้นับวันจะเป็นสื่อที่แพร่หลายและเข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด โดยจากการสุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับความพึงพอใจในการใช้เวลาว่างของคนไทยที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป จากประชาชนในทุกภาคของประเทศในปี 2533 พบว่าส่วนใหญ่พอใจในการใช้เวลาว่างสำหรับการฟังวิทยุและดูโทรทัศน์ คือโดยเฉลี่ยมีถึง 64 และ 79% กิจกรรมที่พอใจรองจากสองกิจกรรมข้างต้น คือ การอ่านหนังสือพิมพ์และการอ่านหนังสือโดยทั่วไป ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเป็น 24 และ 17% ตามลำดับ โดยอัตราเฉลี่ยของความพอใจในการใช้เวลาว่างนี้จะแตกต่างกันไปตามภาคทางภูมิศาสตร์ กล่าวเฉพาะในสองกิจกรรมที่กล่าวถึงหลังสุดนี้ (โดยไม่รวมประชากรในกรุงเทพมหานคร) พบว่าประชากรที่พอใจในการใช้เวลาว่างโดยการอ่านหนังสือพิมพ์จากมากไปหาน้อยได้แก่ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(คือคิดเป็น 29, 23, 19 และ 11% ตามลำดับ) ส่วนผู้ใช้เวลาว่างโดยการอ่านหนังสือทั่วไป จากมากไปหาน้อยได้แก่ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(คือคิดเป็น 21, 20, 14 และ 10% ตามลำดับ)แม้ข้อมูลสถิติข้างต้นจะไม่สามารถชี้ชัดถึงประเภทของเนื้อหาสาระของข่าวสารความรู้ที่ได้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อตามความนิยมของประชาชน ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปเพื่อสาระที่เป็นประโยชน์ หรือเป็นเพียงเพื่อความบันเทิงฉาบฉวย แต่อย่างน้อย การที่ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อต่างๆข้างต้น น่าจะเป็นเงื่อนไขในด้านบวกของการรับรู้ข่าวสารและการเรียนรู้บ้างไม่มากก็น้อย ตามสภาพเงื่อนไขอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งของแต่ละคนและแต่ละสิ่งแวดล้อมทางสังคม กล่าวเฉพาะโทรทัศน์ ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นสื่อที่ไม่ค่อยแพร่หลายนัก โดยเฉพาะในภาคชนบท ซึ่งเป็นที่อยู่ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 ได้มีการขยายเครือข่ายโทรทัศน์ช่องสาธารณะทิ่เผยแพร่รายการจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาคของประเทศอย่างรวดเร็ว ซึ่งการขยายเครือข่ายดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์ อันเป็นสถานีที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป้าหมายทางการศึกษาโดยตรง การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและการมีบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างมากขึ้น รายการโทรทัศน์ไทยก็ได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งภายใต้ภาวะการดังกล่าว กล่าวคือ เป็นการพัฒนาไปสู่ความหลากหลายและเป็นทางเลือกสำหรับคนหลายกลุ่มมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเน้นในด้านความบันเทิง หรือสาระที่เป็นข่าวสารความรู้ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมทั้งด้านศิลปะวัฒนธรรม เนื้อหาของรายการที่หลากหลายเหล่านี้ ผลิตขึ้นภายใต้เงื่อนไขของความจำเป็นและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป ทั้งที่เป็นเงื่อนไขของวัตถุประสงค์ที่บ่งบอกชัดเจนและวัตถุประสงค์ที่แฝงเร้น(implicit) รวมทั้งเป็นเนื้อหารายการที่ทำขึ้นเพื่อกลุ่มคนเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงหรือเพื่อกลุ่มคนเป้าหมายทั่วไป (ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนในเมือง คนในชนบท ผู้ชาย ผู้หญิง เยาวชน ผู้สูงอายุ กลุ่มอาชีพต่างๆ รวมทั้งกลุ่มคนพิเศษของสังคม เช่น คนพิการ เป็นต้น)
เนื้อหาข้างต้นมีทั้งด้านที่เป็นสาระประโยชน์ ความบันเทิง และมีลักษณะสร้างสรรค์มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายด้าน ทั้งในส่วนของผู้ควบคุมดูแลและมีส่วนในการตัดสินใจในการผลิต (โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐและผู้มีอำนาจด้านเงินทุน) คนกลางในฐานะของตัวผู้ผลิตรายการ และผู้บริโภคเนื้อหาข่าวสารจากสื่อ ซึ่งกลุ่มหลังนี้ก็คือมหาชนในสังคมโดยรวมนั่นเอง การยกระดับความรู้ความคิดความอ่านโดยเฉพาะของคนกลุ่มหลังสุดนี้ ถือเป็นปัจจัยเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้สื่อมวลชนสามารถที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ด้านที่เป็นการให้เนื้อหาสาระสร้างสรรค์กับสังคมได้มากหรือน้อย ดังคำกล่าวที่มีลักษณะเป็นวิภาษวิธีที่มักได้ยินกันอยู่เสมอว่า “สื่อสะท้อนสังคม สังคมสะท้อนสื่อ” อันถือเป็นคำกล่าวที่ใช้อธิบายได้ไม่เพียงแต่กับกรณีของสื่อเท่านั้น แต่ใช้อธิบายความจริงทางสังคมอื่นๆทั่วไป โดยเฉพาะในทางการเมือง มักจะได้ยินคำกล่าวในทำนองนี้เช่นกัน ว่า “ประชาชนสะท้อนนักการเมือง นักการเมืองสะท้อนประชาชน” การพัฒนาวงการข่าวสารรายการวิทยุและโทรทัศน์ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เป็นระยะของการสร้างความตื่นตัวของสังคมอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการและผู้มีพื้นฐานความรู้ดีเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการสื่อสารมากยิ่งขึ้น ในฐานะของสื่อมวลชน บุคคลกลุ่มหลังนี้ได้พัฒนาวงการข่าวสารและรายการวิทยุโทรทัศน์ไปสู่คุณภาพใหม่ ที่เอื้อต่อการเปิดโลกของการเรียนรู้ การให้ข่าวสาร ความบันเทิงที่เป็นประโยชน์ อันทำให้สื่อในยุคหลังๆ มีบทบาทสำคัญไม่เฉพาะแต่เพื่อตอบสนองการบันเทิงเริงรมย์ แต่เรียกได้ว่า “เพื่อการสร้างสรรค์ที่ดีๆ” กับสังคมมากกว่าช่วงก่อนหน้านั้น นอกจากนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความรวดเร็วและมีรูปแบบใหม่ๆ ทำให้พรมแดนของโอกาสในการรับรู้ของประชาชนถูกเปิดออกมากขึ้น โลกและสังคมจึงยิ่งดูแคบลง (ณ ที่นี้ ยังไม่ขอพิจารณาและกล่าวถึงผลกระทบและเนื้อหาที่เป็นด้านลบต่อสังคมที่เป็นผลผลิตของสื่อมวลชนประเภทต่างๆที่ยังคงมีอยู่ในสังคมนี้อย่างมากมายก็ตาม) เนื้อหาสาระที่เป็นชีวิตจริง ไม่ใช่อิงนิยายได้รับการตีแผ่ทางหนังสือพิมพ์และรายการวิทยุโทรทัศน์มากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นอาหารสมองที่ดี ไม่ว่าจะเป็นรายการสนทนา อภิปรายเกี่ยวกับปัญหาของบ้านเมือง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง โดยเฉพาะในประเด็นหลังนี้มีการพัฒนารายการต่างๆมากมายขึ้นภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างในยุคสิ้นสุดของสงครามเย็น หลังเหตุการณ์ทางการเมืองเดือนตุลาคม 2519 รายการสนทนาเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมืองโดยเฉพาะทางโทรทัศน์มักเป็นรายการที่ผูกขาดมุมมอง กล่าวคือ ผู้ที่เข้าร่วมสนทนาในรายงานมักเป็นบุคคลที่เลือกสรรมาจากบุคคลที่มีแนวคิดและมุมมองในแนวเดียวกันกับอำนาจรัฐหรือกลไกรัฐบาลในสมัยนั้น อันเป็นการแสดงความคิดเห็นในมุมเดียว ไม่มีลักษณะโต้แย้งด้านมุมมอง รวมทั้งเป็นการเสนอความคิดเห็นทางเดียว คือขาดรูปแบบการเสวนาโต้ตอบและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆที่ตั้งขึ้น “จักรวาลหว่านดาวเต็มราวฟ้า ใช่มุ่งตราดวงใจไว้เป็นหนึ่ง หล้ารวมหลากทัศนะสุดลึกซึ้ง ใยคำนึงผูกขาดลัทธิเดียว” ความหลากหลายทางทัศนะและแนวคิดในสังคม เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้สังคมมีทางเลือกมากยิ่งขึ้นต่อหนทางที่จะก้าวไปข้างหน้า
พลวัติในการผลิตและการสั่งสมความรู้ การระดมความรู้ความคิดจากทุกส่วนของสังคม เพื่อการเลือกสรรและประยุกต์ใช้สิ่งเหล่านี้อย่างเหมาะสม จึงถือเป็นความจำเป็นของการพัฒนาในโลกสมัยใหม่นี้
กว่าหนึ่งทศวรรษหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 เกิดรายการสนทนา อภิปรายทางโทรทัศน์ได้เป็นเวทีของการผลิบานทางความคิดและมุมมองมากมายหลายมุม จากมุมมองเดียวกันหรือคล้ายกันในอดีต เป็นการมองต่างมุม และจากการแสดงความเห็นในทางเดียว เป็นการเปิดโอกาสให้สังคมแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ นอกจากนั้น รายการโทรทัศน์ประเภทสัญจรต่างๆ ช่วยย่นระยะของความห่างไกลระหว่างคนในสังคมให้น้อยลง ประสบการณ์ ความคิด เรื่องราวชีวิตของคนธรรมดาทั้งในเมืองและในชนบทได้ถูกตีแผ่ผ่านสื่อ กลายเป็นเนื้อหาของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประชาชนสู่ประชาชน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ในวงการวิชาการเอง ได้มีนักวิชาการส่วนหนึ่งเริ่มหันเข้าหาและศึกษาเรียนรู้เรื่องราวกระแสของความเป็นไทยอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น นักวิชาการหลายคนเข้าร่วมในกระบวนการพัฒนาของประชาชนในรูปแบบต่างๆ และพยายามนำความรู้ส่วนนี้เข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งส่วนหนึ่งถ่ายทอดผ่านสื่อมวลชนไปสู่สังคมวงกว้าง แม้อีกส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนี้อาจจะยังเดินตามความรู้ฝรั่งอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่นี่ถือเป็นสิ่งที่น่ายินดี จอโทรทัศน์เริ่มมีที่ว่างมากยิ่งขึ้นให้กับคนธรรมดาจากแต่ละสาขาอาชีพ จากแต่ละสถานภาพ และจากแต่ละส่วนของสังคมมานั่งถกเถียง แสดงความเห็นและการระดมความคิดอย่างเอาจริงเอาจัง ถึงหนทางเพื่อการพัฒนาสังคมไทยทุกระดับไปสู่ดุลยภาพและความยั่งยืน ที่ว่างดังกล่าวนี้ รวมไปถึงที่มีไว้สำหรับเนื้อหารายการที่เป็นสาระความรู้ ความบันเทิงที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์อื่นๆ แม้ว่าในความเป็นจริง ที่ว่างและเวลาส่วนใหญ่บนจอโทรทัศน์ไทยดูจะมุ่งไปเพื่อความบันเทิงเริงรมย์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของรายการเพลง ดนตรี หรือเกมโชว์ ที่ดูจะด้อยไปด้วยเนื้อหาสาระทั้งในแง่ของการยกระดับรสนิยมทางศิลปะและแง่ของการก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งรายการเหล่านี้ดูจะเป็นไปเพื่อตอบสนองคนวัยหนุ่มสาว อันดูจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการผลิตรายการเหล่านี้ บนจอโทรทัศน์ไทยจึงดูจะมีเสียงเจี๊ยวจ๊าว เสียงโห่ร้องกรี๊ดกร๊าดของเยาวชน ผู้ที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป แต่สิ่งที่มากกว่านั้น คือการตอบสนองต่อเป้าหมายที่ซ่อนเร้นที่เกิดจากการมีรายการต่างๆเพื่อคนกลุ่มหลังนี้ ก็คือ การยั่วการบริภาคและการเสพสินค้า อันเป็นสิ่งที่ตอบสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ผลิตสินค้า ซึ่งมักเป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียวกันกับเจ้าของหรือผู้สนับสนุนรายการต่างๆเหล่านี้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง กลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจนี้ ก็คือกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทในทางการศึกษา ที่จะมองข้ามความสำคัญไม่ได้แล้วในปัจจุบัน กล่าวคือ เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทในการสร้างค่านิยมให้กับมหาชนในสังคมนั่นเอง เป็นการสร้างซึ่งมี “ผลประโยชน์” เป็นตัวจักรผลักดันที่สำคัญ ซึ่งผู้เขียนจะไม่กล่าวถึง ณ ที่นี้ ถึงเนื้อหาและผลกระทบของค่านิยมต่างๆที่ถูกถ่ายทอดสู่สังคมโดยสื่อ
 
กระบวนการเรียนรู้จากประชาชนสู่ประชาชน
สุดท้ายที่จะกล่าวถึง คือ ประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาภายใต้รูปแบบของกระบวนการเรียนรู้จากประชาชนสู่ประชาชน อันถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการศึกษาที่ไม่เป็นทางการ(informal education) โดยมีสื่อมวลชนเป็นกลไกหนึ่งของการศึกษาประเภทนี้ดังได้กล่าวถึงแล้วข้างต้น ณ ที่นี้จะขอกล่าวถึงคร่าวๆเกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างประชาชนสู่ประชาชน ซึ่งเป็นรูปแบบได้รับการพัฒนาก่อตัวขึ้นมาท่ามกลางกระบวนการทำงานกับประชาชนขององค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งในชุมชนในภาคชนบทและชุมชนเมือง เป็นระยะเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา เครือข่ายการเรียนรู้ เป็นการเปิดโอกาสของการศึกษาเรียนรู้ในเชิงแนวราบระหว่างประชาชน ซึ่งอาจกระทำภายใต้รูปแบบที่หลากหลาย เช่น การจัดการศึกษาดูงาน การประชุมสัมมนา และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประชาชนในพื้นที่หนึ่งกับประชาชนในอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งผู้เข้าร่วมอาจจะมาจากภูมิหลังที่คล้ายกันหรือต่างกัน โดยมีเนื้อหาที่เป็นรูปธรรมในการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน อันเป็นการเรียนรู้ที่เน้นเพื่อการยกระดับความรู้ที่ตนเองมีอยู่ ท่ามกลางการเรียนรู้ประสบการณ์ที่ได้รับจากที่อื่นและบุคคลอื่น ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและชุมชนให้ดีขึ้น
ผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้รูปแบบนี้จึงมีหลายประการ
ประการแรก การเห็นคนอื่น ทำให้ยิ่งเห็นตนเอง อาจเป็นทั้งด้านของการมมองเห็นปัญหาและข้อจำกัดของตนเอง หรือด้านที่เป็นจุดแข็งของกิจกรรมที่ตนเองกำลังกระทำอยู่ ไม่ว่าจะในเรื่องของการทำมาหากินและเรื่องอื่นๆ ความรู้ต่างๆที่ได้รับ นำไปสู่การปรับใช้และการสรรสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์บนฐานของประสบการณ์ของตนเอง ประการที่สอง การเรียนรู้ประเภทนี้สร้างเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่มคนที่มีประสบการณ์ มีปัญหาและความสนใจร่วมกัน อันถือเป็นรากฐานสำคัญที่ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประชาชนในอันดับต่อมา และประการสุดท้าย ความร่วมมือทำให้เกิดความต่อเนื่องของแลกเปลี่ยนความรู้ข่าวสารและการทำงานร่วมกันระหว่างประชาชน อันถือเป็นกระบวนการพัฒนาองค์ความรู้จากฐานของปฏิบัติการของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน แม้การศึกษารูปแบบนี้ไม่ได้มีเป้าหมายทางการเมืองโดยตรงในตัวของมันเอง แต่โดยรูปแบบ เนื้อหากระบวนการ และผลลัพธ์ของการศึกษาประเภทนี้ เป็นการเรียนรู้ที่มีความเป็นองค์รวมอยู่ในตัวเอง กล่าวคือ ทุกมิติของการขัดเกลาทางสังคมจะรวมอยู่ในกระบวนการเรียนรู้นี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม รูปแบบการศึกษาแบบนี้ มีความสำคัญและมีส่วนที่จะตอบสนองต่อกระบวนการพัฒนาจากฐานล่างของสังคมและการพัฒนาองค์กรประชาชนไปสู่ความเป็นประชาสังคม(civil society) อันเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาชนบทในประเทศไทย และถือรูปแบบที่พึงที่จะได้รับการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องจากผู้เกี่ยวข้องทุกๆฝ่ายต่อไป
มองไปข้างหน้า
เพลงชัยแห่งความสำเร็จของการพัฒนาในทุกๆด้านของประเทศคงยังไม่ต้องร้องเฉลิมฉลองกันในวันนี้ แต่การพัฒนาที่มีดุลยภาพและความยั่งยืน ยังถือเป็นโจทย์ของคนไทยทุกคนที่จะต้องคิดและกระทำการกันต่อไป ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาการเมือง ซึ่งเหมือนกันการพัฒนาด้านอื่นๆ ยังคงต้องถือเป็นภาระกิจของทุกฝ่ายที่จะต้องลงแรงทำกันต่อไปเช่นกัน โดยเฉพาะการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับฐานล่างของสังคม การจัดการศึกษาในทุกประเภทและทุกรูปแบบยังคงต้องได้รับการพัฒนาอยู่ต่อไปอีกเพื่อให้สามารถเป็นเครื่องมือที่แท้จริงของการพัฒนาคนให้ถึงพร้อมด้วยความเจริญงอกงามตามหลักแห่งพระพุทธศาสนาทั้งสี่ด้านของมนุษย์ อันได้แก่ความเจริญงอกงามทาง ร่างกาย จิตใจ ศีลธรรมจรรยา และปัญญาความรู้ โดยความถึงพร้อมนี้เชื่อว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาสังคมและประเทศชาติไปสู่ดุลยภาพและความยั่งยืนได้ ส่วนใหญ่ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ค่อนข้างเป็นเพียงผลในเชิงบวกของการศึกษากับการพัฒนาการเมืองไปสู่สังคมประชาธิปไตย โดยมองจากกระบวนการคลี่คลายเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในระยะที่ผ่านมาเท่านั้น ผลลัพธ์ที่เป็นด้านลบหรือด้านที่เป็นความขัดแย้ง(contradictions)ทั้งของการศึกษาและการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมายังคงดำรงอยู่มากมายหลายด้านและที่สามารถพบได้ทั่วๆไป ซึ่งจะขอถือโอกาสกล่าวถึงในครั้งต่อไป


ดาวน์โหลดไฟล์แนบ

ผู้เขียน : khunsuphot
หน่วยงาน : สพท.สป.2
เสาร์ ที่ 7 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2553
เข้าชม : 9036
Not Rated stars เฉลี่ย : Not Rated จาก 0 ครั้ง.


วิชาการ 5 อันดับล่าสุด

      ประเทศไทยได้อะไรบ้างจากสมาคมอาเซี่ยน 22 / ต.ค. / 2555
      ความรู้เกี่ยวกับระบบ 3G 22 / ต.ค. / 2555
      คู่มือการประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้มีวิทยฐานะและหรือเลื่อนวิทยฐานะสายงานการบริหารการศึกษา (ว.17) 18 / ต.ค. / 2555
      ความดันโลหิตสูงสาเหตุเกิดจากอะไร 18 / ต.ค. / 2555
      ภาษาไทยวันคะมำ 26 / ก.ค. / 2555


เชิญร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์จัดการความรู้
สิทธิของสมาชิก สามารถบันทึกขุมความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดาวน์โหลดได้
คลิกที่นี่สมัครสมาชิก