[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by KMOBECMAXSITE 1.2.1
    


วิชาการ
เรื่อง : การเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์
บทความ



 

วิธีการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์
โดย สุพจน์ กล้าหาญ
         การเขียนข่าว (News Writing) คือ กระบวนการใช้ความคิดของผู้สื่อข่าวที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติงานข่าวในขั้นตอนการเขียนบอกเล่าข้อเท็จจริง (fact) เพื่อให้เกิดประโยชน์ ในการรับใช้ หรือสะท้อนสังคม ซึ่งแตกต่างไปจากการเขียนของนักเขียนทั่วๆ ไป เพราะการเขียนข่าวของผู้สื่อข่าวมีความสำคัญต่อการแสวงหาความจริง (truth) ของสังคม ที่ต้องอาศัยรูปแบบ โครงสร้างของการเขียนข่าวมาช่วยนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างมีระบบ     ส่วนการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์ ก็พิจารณาได้จาก “วัตถุประสงค์ของการเขียน” กล่าวคือ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อสถาบัน ให้เกิดแก่กลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมาย อันจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ นำไปสู่ความร่วมมือ และความศรัทธาต่อองค์กร และสินค้า หรือการบริการขององค์กรในที่สุด
อะไรเป็นข่าวได้บ้าง ?
         ทฤษฎีพื้นฐานของการสื่อข่าว อธิบายความไว้ว่า ข่าว (News) คือ เหตุการณ์ (event) ความคิด (ideas) ความคิดเห็น (opinion) อันเป็นข้อเท็จจริง (fact) ที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมารายงาน (reporting) ผ่านทางช่องทางสื่อ (media) ที่เป็นทางการ (formal)
         นักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งชื่อ จอห์น บี โบการ์ท กล่าวว่า “เมื่อสุนัขกัดคนไม่เป็นข่าว เพราะเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่เมื่อคนกัดสุนัข นั่นคือข่าว” คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าเรื่องราวที่ปกติไม่มีความน่าสนใจมากพอที่จะเป็นข่าว แต่ถ้าเป็นเรื่องที่นานกว่าจะอุบัติขึ้นทีก็จะเป็นข่าวได้ง่าย
         อย่างไรก็ตาม เหตุผลเพียงเท่านี้ ก็ยังสรุปไม่ได้ เพราะเมื่อสุนัขกัดคนสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรี เหตุการณ์เช่นนี้กลับกลายเป็นข่าว ดังนั้น คำตอบของเรื่องราวที่เป็นข่าวจึงมีแนวทฤษฎีพื้นฐานไว้ว่า สิ่งที่จะเป็นข่าว (Element of news) ได้คือสิ่งที่มีลักษณะ ดังนี้
             ความทันด่วนของข่าว (timeliness)d
             ผลกระทบของข่าว (impact หรือ consequence) คือ มีนัย (significant) มีความสำคัญ (importance)
             มีความเด่น (prominance)
             ความใกล้ชิดของข่าวต่อผู้อ่านหรือผู้ชม (proximity) ทั้งทางกายและทางใจ
             เรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในกระแสความสนใจของสาธารณชน หรือเรียกว่า “ประเด็นสาธารณะ” (talk of town)
         ลักษณะของสิ่งที่จะเป็นข่าวได้ตามทฤษฎีพื้นฐานของข่าวข้างต้น พอที่จะนำมาประยุกต์เป็นแนวทางในการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์ได้ ยกเว้นลักษณะของข่าวโดยทั่วไปบางประการที่ไม่สามารถนำมาเป็นแนวทางได้ เช่น ความขัดแย้ง ความผิดปกติ เป็นต้น โดยที่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของงานประชาสัมพันธ์นั้นเอง
โครงสร้างการเขียนข่าว
         โครงสร้างของข่าว (news story structure) ในการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์ ซึ่งมักจะเป็นข่าวประเด็นเดียว (single – element story) ประกอบด้วยส่วนประกอบพื้นฐาน 4 ส่วน คือ
         1. ส่วนพาดหัวข่าว (Headline) หมายถึง ประโยค วลี หรือข้อความสั้นๆ ที่เป็นสาระหรือใจความสำคัญของเนื้อข่าว พิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่ และมักอยู่ด้านบนของเนื้อข่าว พาดหัวข่าวมีหน้าที่ให้สาระสำคัญของข่าว ดึงดูดความสนใจของผู้อ่านให้อ่านเนื้อข่าว และช่วยในการจัดหน้าหนังสือพิมพ์
         2. ส่วนความนำหรือวรรคนำ (Lead) คือ ข้อความส่วนสรุปใจความสำคัญของเนื้อข่าว อาจมีสาระสำคัญหลายประการ จะนำเสนอเรียงตามลำดับความสำคัญ นับเป็นเนื้อหาส่วนแรกของเนื้อข่าว ซึ่งผู้อ่านจะเห็นก่อนส่วนอื่น และเป็นส่วนที่มีสาระความหมาย ซึ่งสามารถกระตุ้นความรู้สึกอยากรู้ อยากเห็น ดึงดูดความสนใจ และสร้างอารมณ์คล้อยตามจนต้องอ่านเนื้อข่าวตั้งแต่ต้นจนจบ ในวงการวิชาชีพหนังสือพิมพ์เรียกวรรคนำว่า “โปรยข่าว”
         3. ส่วนเชื่อม (Neck หรือ bridge) คือ ข้อความส่วนเชื่อมต่อระหว่าง ส่วนความนำกับส่วนเนื้อข่าวที่เป็นรายละเอียด ส่วนเชื่อมนั้นอาจจะเสนอรายละเอียดของบุคคลสถานที่ เหตุการณ์ หรือเวลาที่ปรากฏในส่วนความนำ หรือให้ความเป็นมาของข่าวที่มีการนำเสนอต่อเนื่อง รวมทั้ง การให้ข้อมูลในลักษณะภูมิหลังของเนื้อข่าว ส่วนเชื่อมจึงมีความสำคัญเปรียบเสมือนสะพานในการเชื่อมโยงให้ผู้อ่านข่าวเข้าใจความหมายของข่าวที่ต้องการสื่อได้มาก
         4. เนื้อข่าว (Body) คือ ส่วนที่ให้รายละเอียดของเหตุการณ์หรือเรื่องราวแก่ผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านเข้าใจและติดตามเหตุการณ์ทั้งหมด โดยอาจเรียงเนื้อเรื่องแบบใดแบบหนึ่ง คือ แบบลำดับตามความสำคัญ (significant order) หรือแบบลำดับเวลาหรือเหตุการณ์ (chronological order)
         โครงสร้างพื้นฐานของข่าวข้างต้น เป็นส่วนประกอบพื้นฐานในการเขียนข่าว ที่แต่ละข่าวควรมีส่วนประกอบพื้นฐาน 4 ส่วน อย่างไรก็ตาม ในการนำเสนอข้อเท็จจริงของข่าว ผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์อาจกำหนดแนวทางการเขียนข่าวขึ้นอยู่กับลักษณะประเด็นของข่าวนั้นๆ
         ในการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์จะต้องบอกรายละเอียดเกี่ยวกับหน่วยงาน ผู้รับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์ขององค์กรไว้ในท้ายข่าวด้วยเสมอ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้โดยสะดวก เพื่อที่ผู้สื่อข่าวสามารถติดต่อขอทำความเข้าใจหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้
รูปแบบของการเขียนข่าว
         การนำเสนอเนื้อเรื่อง หรือตัวข่าว (Body) คือการนำเสนอส่วนที่ให้รายละเอียดของเหตุการณ์ หรือเรื่องราวแก่ผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านเข้าใจและติดตามเหตุการณ์ทั้งหมด โดยผู้เขียนข่าวสามารถเลือกรูปแบบการเขียนข่าวที่มีอยู่หลายรูปแบบมาเป็นแนวทางได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน การเขียนข่าวโดยรูปแบบปิรามิดหัวกลับได้รับความนิยมมากที่สุด
         1. การเขียนข่าวแบบปิรามิดหัวกลับ (Inverted - Pyramid Style) เป็นการเขียนโดย นำเอาเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดขึ้นมาก่อน แล้วจึงตามด้วยเรื่องราวที่มีความสำคัญรองลงไปตามลำดับ เป็นการกระตุ้นให้ผู้อ่านได้ทราบรายละเอียดของเหตุการณ์นั้น
         การเขียนข่าวแบบปิรามิดหัวกลับเป็นรูปแบบการเขียนข่าวที่เหมาะกับยุคสมัยที่เป็นยุคสังคมข่าวสาร มีข่าวข่าวสารมากมาย ในขณะที่ผู้อ่านมีเวลาน้อยมาก การบอกใจความสำคัญของข่าวไว้ตั้งแต่ต้นจึงเป็นรูปแบบการอ่านข่าวที่ผู้อ่านคุ้นเคย จึงทำให้เป็นรูปแบบการเขียนข่าวที่ได้รับความนิยมสูงสุดมาจนถึงปัจจุบันนี้
         นอกจากนั้น การเขียนข่าวโดยทั่วไปยังมีรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น แบบปิรามิดหัวตั้ง (Upright Pyramid Style) เป็นรูปแบบการเขียนข่าวที่ตรงกันข้ามกับแบบแรก กล่าวคือ จะเริ่มจากการกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่มีความสำคัญน้อย แล้วค่อยๆ นำเสนอข้อเท็จจริงที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงย่อหน้าสุดท้ายที่มีความสำคัญที่สุด หรืออาจนับได้ว่าเป็นช่วง “ไขประเด็นข่าว” (climax) ก็ว่าได้ ในปัจจุบันหนังสือพิมพ์มักนำรูปแบบการเขียนข่าวปิรามิดหัวตั้งมานำเสนอข่าวสั้น
         รูปแบบการเขียนข่าวแบบปิรามิดหัวตั้งนี้ เคยใช้กันมาในการเขียนข่าวแบบเก่าๆ อย่างไรก็ตาม การเขียนข่าวแบบนี้ยังใช้อยู่ในปัจจุบันกับเหตุการณ์พิเศษ ที่มีรายละเอียดมากเกินกว่าจะสรุปข้อเท็จจริงสำคัญทั้งหมดไว้ในย่อหน้าแรก หรือมิฉะนั้นก็ใช้กับเหตุการณ์ที่มีเงื่อนงำสูง เพื่อสร้างความสนเท่ห์ให้แก่ผู้อ่าน ก่อนที่จะคลี่คลายคำตอบให้ทราบในตอนจบของเรื่อง (เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท, ม.ป.ป.)
         ในการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์จะต้องบอกรายละเอียดเกี่ยวกับหน่วยงาน ผู้รับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์ขององค์กรไว้ในท้ายข่าวด้วยเสมอ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้โดยสะดวก เพื่อที่ผู้สื่อข่าวสามารถติดต่อขอทำความเข้าใจหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้
         2. การเขียนข่าวแบบนาฬิกาทราย (Hourglass Style) เป็นการเขียนเนื้อเรื่องโดยเปิดเรื่องด้วยใจความสำคัญของเรื่องในย่อหน้าแรกๆ แบบเดียวกันกับแบบปิรามิดหัวกลับ หลังจากนั้น จะเรียงลำดับข้อมูลที่มีความสำคัญลดลงไปลำดับ จนถึงย่อหน้าที่จะเริ่มเล่าตามลำดับเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Chronological Accounts) รอย ปีเตอร์ คลาร์ค (Roy Peter Clark) นักวิชาการศึกษาด้านสื่อแห่งสถาบันพอยเตอร์ (The Poynter Institue) ในเซ็นต์ พีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) เรียกรูปแบบการเขียนข่าวแบบนี้ว่า “แบบนาฬิกาทราย” (Hourglass Style) (Itule and Anderson, 1994, p.110 - 113)
         ลักษณะเด่นของรูปแบบการเขียนข่าวแบบนาฬิกาทราย คือ ผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์สามารถเขียนบรรยายได้มาก โดยเฉพาะการเน้นย้ำข้อมูลที่มีความสำคัญ ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจข้อมูลได้มากกว่า รวมทั้งเป็นรูปแบบการเขียนที่ทำให้โครงสร้างของน้ำหนักของข้อมูลที่นำเสนอมีความสมดุลตลอดทั้งเรื่อง รูปแบบการเขียนข่าวแบบนาฬิกาทรายจึงเปรียบเสมือนทางเลือกของผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ที่เบื่อรูปแบบการเขียนที่นิยมกันทั่วไปคือรูปแบบการเขียนแบบปิรามิดหัวกลับ
          แบบความนำผนวกกับเนื้อข่าวที่มีข้อเท็จจริงสำคัญเท่าเทียมกัน (Lead-plus-equal-facts) การเขียนข่าวรูปแบบนี้มีลักษณะพิเศษที่ไม่ถูกจำกัดด้วยความสั้น-ยาวด้วยพื้นที่ที่จะตีพิมพ์ เนื่องจากรายละเอียดของแต่ละข้อมูลในเหตุการณ์นั้นมีความสำคัญเท่าเทียมกันหมด และแต่ละข้อมูลยังมีเหตุผลสนับสนุนซึ่งกันและกันอยู่
         การเขียนข่าวรูปแบบนี้ในย่อหน้าแรกมีความนำที่สรุปย่อข้อเท็จจริงทั้งหมดเอาไว้ เช่นเดียวกับความนำในปิรามิดหัวกลับ ส่วนเนื้อข่าวจะอธิบายรายละเอียดของข้อมูล โดยไม่เรียงลำดับความสำคัญของข้อมูลนั้นๆ แต่จะเรียงลำดับความเป็นเหตุเป็นผลสนับสนุนซึ่งกันและกันอยู่ (สิริทิพย์ ขันสุวรรณ, 2543 น.139-140)
ลำดับขั้นตอนและเทคนิควิธีการเขียนข่าว
         การคิดเป็นกระบวนการที่ต้องเกิดขึ้นก่อนการเขียน แนวทางปฏิบัติง่ายๆ ซึ่งได้รับการยอมรับจากนักเขียนทั่วไปในการฝึกเขียนคือ ประการแรกต้องรู้ชัดว่าเราต้องจะบอกอะไร ประการต่อมาคือลงมือบอกโดยเขียนตามที่คิด  ส่วนมากเชื่อกันว่า หากสามารถคิดออก ก็สามารถเขียนได้ เพราะที่แท้การเขียนคือการนำเสนอสิ่งที่คิดนั่นเอง ปัญหาสำหรับผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ใหม่ก็คือ การลงมือเขียน โดยไม่มีแผนอยู่ในใจ ทำให้ข่าวที่เขียนขาดการเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ ขาดจุดเน้นที่สำคัญในประเด็นที่นำเสนอ   วิธีการเขียนข่าวที่จะอธิบายต่อไปนี้ เป็นวิธีการที่ใช้เป็นเชิงวิชาการ ลักษณะกลางๆ ของการเขียนข่าวโดยทั่วๆ ไป อย่างไรก็ตาม สำนักพิมพ์ของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะมีวิธีการเขียนที่จำเพาะเจาะจงเป็นเอกลักษณ์ของสำนักพิมพ์ เรียกว่า “คู่มือบรรณาธิกรณ์” (Style Book Manual) ทำให้ข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์ที่ส่งไปยังกองบรรณาธิการข่าวที่หนังสือพิมพ์จะได้รับการบรณาธิกรณ์ (Edit) แตกต่างกันไปอีกด้วย
ทฤษฎี "ข่าวสาร"
         เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยการเรียนรู้จากสื่อที่มีอยู่ โดยการศึกษาข่าวสารทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แล้ววิเคราะห์ได้ว่าข่าวที่ดูไปแล้วจะเป็นไปในทิศทางใด...อย่างเป็นกลาง โดยต้องไม่ถูกชี้นำจากบุคคลใดหรือสื่อใด ซึ่งจะเป็นการฝึกฝนให้สามารถคิดเป็น ทำความเข้าใจด้วยตัวเองได้จากข่าวและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เท่ากับช่วยพัฒนาศักยภาพของตนเอง
       ทฤษฎีการกระจายข่าวสารลงสู่ข้างล่าง (trickle-downtheory)
         เป็นทฤษฎีเก่าแก่มากที่สุดที่เชื่อว่าชนชั้นต่ำกว่ามักจะเลียนแบบคล้อยตามพฤติกรรมของชนชั้นที่สูงกว่า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ข่าวสารจะถูกส่งผ่านระดับชั้นของสังคมตามแนวดิ่ง จากชนชั้นระดับสูงกว่าลงสู่ชนชั้นระดับต่ำ โดยเฉพาะเกี่ยวกับแฟชั่นและแบบสไตล์ใหม่ ๆ การกระจายของข่าวสารตามทฤษฎีนี้ ไม่ค่อยจะปรากฎให้เห็นมากนักในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วในทางเศรษฐกิจ เหตุผลก็คือ แฟชั่นใหม่ ๆ ในปัจจุบันสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วเพียงชั่วเวลาข้ามคืน โดยผ่านการสื่อมวลชนต่าง ๆ แต่รูปแบบของการกระจายข่าวสารที่ปรากฎให้เห็นมากกว่า คือ รูปแบบการกระจายข้อมูลข่าวสารในกลุ่มเพื่อนเดียวกัน ซึ่งมีระดับชั้นสังคม อายุ การศึกษา และ ลักษณะทางด้านประชากรศาสตร์ ด้วยเหตูที่คนกลุ่มนี้มีพื้นฐานทางสังคมเหมือน ๆ กัน มีความคิดความสนใจในสิ่ง ต่าง ๆ คล้ายคลึงกัน จึงมีการพูดคุยเป็นสมาชิกติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม อันเกิดจากอิทธิพลที่เรียกว่า “ อิทธิพลของความเป็นสมาชิกกลุ่มเดียวกัน (homophilous influence)
       ทฤษฎีการไหลไปของข่าวสารสองขั้นตอน (two-stepflowtheory)
         ในปี ค.ศ. 1948 แคทซ์กับลาซาร์สเฟลด์ (Katz and Lazarsfeld, quoted in Assael. 1998 : 606) เป็นนักวิจัยกลุ่มแรกที่เชื่อว่า กระบวนการสื่อสารแบบปากต่อปาก หรือ WOM เป็นการไหลไปของข่าวสาร 2 ขั้นตอน คือ ข่าวสารจะไหลจาก สื่อมวลชน (mass media) ไปยัง ผู้นำทางความคิด (opinion leaders) และจากผู้นำทางความคิดไปยัง ผู้ตาม (follower) พวกเขาเชื่อว่า ผู้นำทางความคิดจะเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชนมากกว่าผู้ตาม ผู้นำทางความคิดจะทำหน้าที่เป็นคนกลาง (intermediaries) ระหว่างสื่อมวลชนกับผู้บริโภคอื่น ๆ คนส่วนใหญ่ของผู้บริโภค เป็นผู้รับข้อมูลข่าวสารที่เฉื่อยชาวางเฉยไม่ตื่นตัว (passive recipients) และ การไหลไปของข่าวสารจะไหลไปทางเดียว (one-way communication)
       ทฤษฎีการไหลไปของข่าวสารหลายขั้นตอน (multi step flow theory or multistage interaction)
         แม้ว่าทฤษฎีที่สองมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจถึงกระบวนการอิทธิพลทางด้านบุคคลแต่ก็ยังมีข้อผิดพลาดหลายประการ ในส่วนของการไหลไปของข่าวสาร และทิศทางของอิทธิพลอันเกิดจากผู้รับและผู้ส่งข่าวสารโดยมีเหตุผล 3 ประการคือ
              ผู้ตามไม่ใช่เป็นผู้เฉื่อยชาวางเฉยอย่างที่เข้าใจ แต่เขาอาจเป็นผู้เริ่มต้นสอบถามหาข้อมูล รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นที่ไม่ได้เรียกร้องอีกด้วย
              ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารในขณะเดียวกัน ยังเป็นผู้รับข่าวสารด้วย นั่นคือ ผู้นำทางความคิดได้รับอิทธิพลมาจากผู้ตามด้วย เช่นเดียวกัน หรือ ในทางกลับกัน ผู้แสวงหาข้อมูลจากผู้อื่น ก็จะให้ข้อมูลต่อผู้อื่นด้วยนั่นเอง อิทธิพลของการไหลไปของ WOM จึงเป็นไปในลักษณะ 2 ทิศทาง ระหว่างผู้ส่งข่าวสารกับผู้รับข่าวสาร
              ผู้นำทางความคิดไม่ใช่เป็นเพียงผู้เดียวทีรับข้อมูลข่าวสารมาจากสื่อมวลชน ผู้ตามก็ได้รับอิทธิพลมาจากโฆษณาด้วยเหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้นผู้นำทางความคิด ก็ไม่อาจจะควบคุมการไหลไปของข่าวสารจากสื่อมวลชนได้ทั้งหมดที่จะส่งผ่านไปยังกลุ่มผู้ตาม เพราะยังมี ผู้รวบรวมข้อมูล (gatekeeper or information gatherers) ทำหน้าที่พิจารณาตัดสินใจว่าข้อมูลที่ได้รับจากสื่อมวลชนควรส่งผ่านไปยังกลุ่มผู้รับหรือไม่อีกต่อหนึ่ง ผู้รวบรวมข้อมูลจะแตกต่างจากผู้นำทางความคิด คือ จะทำหน้าที่แนะนำความคิดและข้อมูลให้กลุ่มรับรู้ แต่อาจจะไม่มีอิทธิพลต่อกลุ่ม
จรรยาบรรณและข้อควรปฏิบัติของผู้สื่อข่าว
       ผู้สื่อข่าวควรซื่อสัตย์ ยุติธรรม และกล้าหาญในการรวบรวม รายงาน และตีความข่าวสาร
       ตรวจสอบความถูกต้องของข่าวสารจากทุก ๆ แหล่ง และพึงระมัดระวังในการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่ไม่เจตนา การจงใจบิดเบือนข่าวเป็นสิ่งที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด
       จงแสวงหาผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในข่าวอย่างขยันขันแข็ง เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาในการตอบโต้ข้อกล่าวหาในกรณีกระทำความผิดใด ๆ ก็ตาม
       จงระบุแหล่งข่าวทุกครั้งที่ทำได้ สังคมมีสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าวให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
       จงตั้งคำถามต่อเจตนาของแหล่งข่าวเสมอ ๆ ก่อนที่จะรับปากเรื่องการปกปิดสถานะแหล่งข่าว จงชี้แจงให้ชัดเจนถึงเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับสัญญาที่ทำขึ้นเพื่อแลกกับการได้มาซึ่งข่าวสาร แล้วจงรักษาสัญญาอย่างเคร่งครัด
       จงทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่า หัวข้อข่าว ส่วนล้อข่าวและท่อนโปรยข่าว รูปภาพ วิดีโอ เทปเสียง แผนภาพ เสียงบทสัมภาษณ์ และข้อความที่ยกมาไม่มีการบิดเบือน สิ่งเหล่านี้ต้องไม่ถูกตัดต่อจนเสียรูปความหมายเดิม หรือยกบางส่วนขึ้นมานำเสนอโดยปราศจากองค์ประกอบที่สำคัญทั้งหมด
       จงอย่าบิดเบือนเนื้อหาของรูปภาพ หรือภาพวิดีโอ การตกแต่งภาพเพื่อทำให้มีความชัดเจนเป็นสิ่งที่ทำได้เสมอ จงระบุเสมอเมื่อใช้ภาพตัดต่อหรือมีการเพิ่มเติมสิ่งใด ๆ ไปในภาพเดิม
       จงหลีกเลี่ยงการสร้างข่าวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด หากการจำลองข่าวจำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อเล่าเรื่องราว จงบอกผู้ชมให้ชัดเจน
       จงหลีกเลี่ยงการปกปิดฐานะหรือการใช้วิธีปลอมตัวเพื่อไปรวมรวมข่าว ยกเว้นเสียแต่ว่า การเก็บข้อมูลแบบเดิมนั้นจะไม่ทำให้ได้ข้อมูลที่สำคัญต่อการรับรู้ของสาธารณชน หากมีการใช้วิธีการดังกล่าว ควรมีการอธิบายไว้ในเรื่องราวที่เสนอด้วย
       อย่าละเมิดลิขสิทธิของผู้อื่นโดยเด็ดขาด
       จงตรวจสอบค่านิยมทางวัฒนธรรมของตนและหลีกเลี่ยงที่จะยัดเยียดค่านิยมเหล่านั้นให้ผู้อื่น
       หลีกเลี่ยงการเหมารวมบนพื้นฐานของเชื้อชาติ เพศ วัย ศาสนา เผ่าเชื้อ รสนิยมทางเพศ ความพิการ รูปร่างหน้าตา หรือสถานภาพทางสังคม
       จงสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทัศนคติอย่างเปิดเผย แม้ว่าบางความคิดเห็นนั้นจะน่าขยะแขยง ยากที่จะรับฟัง
       จงเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสแสดงเสียง แหล่งข่าวสารที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการสามารถที่จะเป็นเสียงที่เป็นสัจจ์และเป็นธรรมได้พอ ๆ กัน ทั้งคู่
       จงแยกแยะระหว่างการเลือกข้างสนับสนุนกับการเสนอข่าว หากมีการวิเคราะห์หรือการใส่ความเห็นเข้าไป ก็ควรระบุให้ชัดเจน และโดยไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงหรือสภาวะแวดล้อมของข่าวสาร
       จงแยกแยะระหว่างข่าวกับการโฆษณา และหลีกเลี่ยงการยำข่าวโดยไม่แยกแยะเส้นแบ่งระหว่างสิ่งทั้งสอง
       จงตระหนักถึงหน้าที่พิเศษของท่านในอันที่จะประกันว่า งานของส่วนรวมหรือราชการควรถูกนำมาเปิดเผยให้โปร่งใส และข้อมูลบันทึกของราชการเปิดกว้างสำหรับการสืบสวนค้นคว้า


ดาวน์โหลดไฟล์แนบ

ผู้เขียน : khunsuphot
หน่วยงาน : สพท.สป.2
ศุกร์ ที่ 3 เดือน กันยายน พ.ศ.2553
เข้าชม : 58957
4.5 stars เฉลี่ย : 4.5 จาก 61 ครั้ง.


วิชาการ 5 อันดับล่าสุด

      ประเทศไทยได้อะไรบ้างจากสมาคมอาเซี่ยน 22 / ต.ค. / 2555
      ความรู้เกี่ยวกับระบบ 3G 22 / ต.ค. / 2555
      คู่มือการประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้มีวิทยฐานะและหรือเลื่อนวิทยฐานะสายงานการบริหารการศึกษา (ว.17) 18 / ต.ค. / 2555
      ความดันโลหิตสูงสาเหตุเกิดจากอะไร 18 / ต.ค. / 2555
      ภาษาไทยวันคะมำ 26 / ก.ค. / 2555


เชิญร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์จัดการความรู้
สิทธิของสมาชิก สามารถบันทึกขุมความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดาวน์โหลดได้
คลิกที่นี่สมัครสมาชิก