[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by KMOBECMAXSITE 1.2.1
    


ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
เรื่อง : การคิดอย่างทองนพคุณ
บทความ



 

คิดอย่าง...ทองนพคุณ
เครื่องมือสื่อสาร...กุญแจ.......ของปัญหา
                วลีที่ชาวพุทธยอมรับกันทั่วไป “ปัญหาของมนุษย์ (ความทุกข์) เกิดมาจากความโลภความโกรธความหลง”ไม่ว่าโลกยุคปัจจุบันจะถูกมองว่า เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง กุญแจของปัญหามาจากความโลภ ความโกรธ ความหลงเหมือนเดิม  อะไรทำให้ปัญหาของมนุษย์ซับซ้อนและโกลาหลมากขึ้น ตอบเป็นคำขาด (ฟันธง) คือ กระบวนการโทรคมนาคม  โดยมีโทรศัพท์มือถือ  และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คเป็นพระเอกและนางเอก ที่เลือกโทรศัพท์มือถือเป็นพระเอก เพราะระบบโทรคมนาคมผ่านโทรศัพท์มือถือ สามารถกำหัวใจของมนุษย์ ไม่เลือกเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ความเชื่อเดิมใดๆ ที่เลือกคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คเป็นนางเอก เพราะเครื่องมือสื่อสารชนิดนี้ ช่างมีเสน่ห์ราวกับนางเอกยอดนิยม แค่เอาเครื่องมือนี้มาประดับไว้ข้างกาย เสน่ห์ของความทันสมัยก็ครอบเจ้าของเครื่องมือไว้แล้ว เครื่องมือโทรคมนาคมได้แสดงศักดาเหนือสถานที่และติดจรวดของกาลเวลา นับจากแถลงการณ์ของสวนโมกข์ครบห้าสิบปีจนถึงวันนี้ สวนโมกข์ครบเจ็ดสิบห้าปี ความเป็นพระเอกนางเอกของเครื่องมือทั้งสองก็ครองใจโลกาภิวัตน์ไปเรียบร้อยแล้ว พุทธศาสนาถือว่า เครื่องมือและกระบวนการทุกชนิดเป็นอกรรม ดุจท่อนไม้ท่อนฟืน ทำไมเครื่องมือดังกล่าวจะเป็นพระเอกและนางเอกได้เล่า ก็เพราะจิตของมนุษย์ยึดเครื่องมือนี้ ใช้เครื่องมือนี้แสดงเอกลักษณ์ของตนเอง ให้เป็นพระเอกนางเอกเหนือผู้อื่น มนุษย์สามารถใช้เครื่องมือดังกล่าว สร้างพลังความดีและพลังความชั่ว ในรูปของการสร้างม็อบทางการเมือง การก่อการร้าย การสร้างศูนย์การค้ายักษ์ การจัดมหกรรมแสดงนิทรรศการสินค้า กีฬาระดับโลก การสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม การสร้างมิตรภาพผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือการใส่ร้าย บิดเบือน ข้อมูล เพื่อให้ดีให้ชั่วกับคนในระดับโลก ในชั้นแรกน่าจะมีความคิดสร้างสรรค์จากผู้นำทางความคิดบางคน แต่เป็นแนวความคิดที่มีอานุภาพที่นำไปประยุกต์ให้ดีให้ชั่วกับคนอย่างรวดเร็ว ราวกับว่า คนทั้งโลกเป็นชุมชนเดียวกัน เมื่อแนวความคิดแพร่กระจาย เกิดการทำตาม ทั้งทางบวกและทางลบ ก่อให้เกิดเรื่องราวที่ซับซ้อน และยากที่จะสืบสาวไปหาต้นตอของปัญหาอีกด้วย พุทธศาสนาเชื่อว่า อวิชชาเป็นเหตุที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ อวิชชาจึงเป็นเหตุให้มนุษย์หลงผิดได้ง่าย และใฝ่ต่ำง่ายกว่าใฝ่สูง ยิ่งมีอิสรภาพสามารถอยู่กับสิ่งแวดล้อมผ่านระบบโทรคมนาคมมากเท่าไร อกุศลธรรมดูยิ่งงอกงามในจิตของมนุษย์มากเท่านั้น มนุษย์ส่วนน้อยจึงอาจต้านทานความสะดวก ความรวดเร็ว ความได้ดังใจ ความสัมฤทธิ์รวดเร็วดังฝัน ในการครอบครองกามวัตถุ ในรูปของผลผลิตทางเทคโนโลยี ในรูปของการสื่อสารผ่านระบบโทรคมนาคมทุกชนิด การติดดูการเล่นจนดูได้ทุกวันและทั้งวัน การติดการบันเทิงในทุกรูปแบบรวมทั้งกีฬา ติดการเสี่ยงโชคทุกรูปแบบ ติดความสะดวกด้วยเกียจคร้านใฝ่ต่ำ และมัวเมากับเหล้า บุหรี่ สารเสพติด รวมทั้งเกมส์คอมพิวเตอร์ อบายมุขเป็นเหตุให้ความสุขของมนุษย์ทั้งราคาแพง ทั้งเป็นความสุขฉาบฉวย ทั้งทำให้ลดความภูมิใจในตน ทั้งสร้างพฤติกรรมแก้ปัญหาชนิดลูบหน้าปะจมูก ทั้งขาดความละอายชั่วกลัวบาป  โดยไม่รู้สึกว่าตัวได้ทำผิดทำนองคลองธรรม พุทธธรรมมีหลักการแก้ปัญหาชนิดครอบจักรวาล การแก้ปัญหาโดยอาศัยเครื่องมือ หรือผู้อื่นช่วยอนุเคราะห์ เรียกว่า แก้ตามอาการ เมื่ออาการทุเลาแล้ว แต่ละคนมีศักยภาพที่จะดับปัญหาทุกอย่างได้ด้วยตนเอง โดยตนเอง สรุปแนวความคิดแก้ปัญหาตามปริยัติของพุทธธรรม มีดังต่อไปนี้   แก้ตามอาการ เช่น กินยาแก้ปวด รับการเยียวยา ช่วยเหลือจากผู้อื่นตามสมควร แก้แบบปาฏิหาริย์ คือ การรู้สึกขอบคุณความทุกข์ ขอบคุณปัญหาที่หนักหนาสาหัส ขอบคุณความทุกข์สอนให้เข็ดหลาบ เมื่อใดความทุกข์กลายเป็นสิ่งมีคุณ ปาฏิหาริย์เกิดฉับพลัน เพราะปฏิจจสมุปบาทจะเปลี่ยนจากสายทุกข์ มาเป็นปฏิจจสมุปบาทสายไร้ทุกข์ (อุปนิสธรรม) แก้โดยเห็นว่าต้นเหตุของปัญหา คือ ความหลงผิดของตนเอง  เมื่อใดสำนึกได้ว่า  ปัญหาทุกชนิดเกิดเพราะความหลงผิดของจิต หนทางแก้ปัญหาจะผุดบังเกิดกับผู้นั้น  แก้แบบบูรณาการ  คือ ใช้แนวความคิดทั้งสามแนวพร้อมกัน
นั้นคือ
                        การรับอนุเคราะห์จากผู้อื่นด้วย ยอมรับปัญหาว่าเป็นเรื่องธรรมดาด้วย และพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วย ตราบใดที่ยังอยู่ในศักยภาพของการเป็นมนุษย์  ที่ทรงอิริยาบถสี่ (ยืน เดิน นั่ง นอน) ได้คล่องแคล่ว ตราบนั้นชีวิตยังมีความหวัง หวังที่จะใช้บุญกิริยาวัตถุของจิตตนเอง เป็นต้นทุนบุญแก้ไขสิ่งผิดพลาดให้ถูกต้องตรงความเป็นจริง ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นผู้นิยมสร้างวาทธรรมเป็นภาษาพื้นบ้าน ฟังง่าย ความหมายลึก ยิ่งปัญญาได้รับการพัฒนามากเท่าไร ยิ่งรู้สึกว่าวาทธรรมของ ท่านพุทธทาสภิกขุ น่าอัศจรรย์มากขึ้นเท่านั้น ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้บัญญัติภาษาปากขึ้นอธิบายความลึกซึ้งของโลกุตตรธรรมได้อย่างน่าอัศจรรย์ ข้าพเจ้าขอเลือกวาทะธรรมบางวาทะ ที่ปรากฏในแถลงการณ์สวนโมกข์ครบห้าสิบปี พร้อมทั้งแสดงว่า วาทะธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมที่ไม่ตาย เพราะอำนาจของความเป็นโลกุตตรธรรมของธรรมเหล่านั้น
                ๑. วิกฤติการณ์ให้โอกาสที่ดีกับมนุษย์  คำว่า วิกฤติ สื่อความหมายถึงปรากฏการณ์ฉับพลัน รุนแรง ตัวอย่างปัญหาวิกฤติ เช่น ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง เอดส์ ฯลฯ เผชิญหน้ากับวิกฤติทางการเมือง เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีเผชิญหน้ากับคณะปฏิวัติ เป็นต้น อยู่ในเหตุการณ์ของการก่อการร้าย เผชิญกับวิกฤติการทางสังคมแปลกๆ เช่น การทารุณกรรมทางเพศ ถูกใส่ร้ายผ่านอินเตอร์เน็ต เป็นต้น จากอุปนิสธรรมบ่งชี้ว่า ทุกข์ที่รุนแรงฉับพลันนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่สอนเจ้าของทุกข์ตรง สอนจริงๆ ผู้อื่นอาจดูว่าทุกข์นั้นน่ากลัว แต่เจ้าของทุกข์มีโอกาสเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เปลี่ยนความน่ากลัวเป็นความสงบเย็น โอกาสพลิกจิตเกิดขึ้นฉับพลัน ปาฏิหาริย์ย่อมเกิดกับผู้มองเห็นความทุกข์เป็นครูเสมอ (เพ็ชรในหัวคางคก)เราน่าจะนำกรณีตัวอย่าง เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสมาเผยแพร่ให้มาก ให้สังคมเข้าใจอานุภาพของปฏิจจสมุปบาทสายไร้ทุกข์ ปาฏิหาริย์ทุกชนิดอธิบายได้ด้วยอุปนิสธรรมน่าเสียดาย สังคมไทยกลับนำปัญหาวิกฤติมาทำเป็นปัญหาที่เพิ่มความทุกข์ให้ทั่วสังคม ทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมกระต่ายตื่นตูม มีเรื่องเล่าต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล ปาฏิหาริย์ย่อมเกิดกับผู้เผชิญวิกฤติการณ์ความเป็นความตายด้วยใจยอมรับเสมอ แม้จนปัจจุบันก็คงมีปาฏิหารย์ชนิดดังกล่าวยังพบเห็นอยู่มาก ได้พยายามเชิญชวนให้สังคมไทยเห็นความอัศจรรย์ของ
อุปนิสธรรม ปัจจุบันยังไม่เห็นมีผู้เผยแพร่ธรรมคนใด ช่วยกันทำเรื่องนี้ให้เด่นชัด ดูราวกับว่า มองไม่เห็นคุณค่าของอุปนิสธรรม ซึ่งเป็นสุดยอดของการนิรนัยของพระพุทธเจ้า
                              ๒. ปริยัติที่ปฏิบัติได้จริง จึงเป็นปริยัติที่ถูกต้อง ปริยัติ เป็นคำบาลี ที่มีความหมายคล้ายกับ หลักการหรือแนวความคิด (Principle or concept) ของศัพท์สมัยใหม่ โลกุตตรธรรม เป็นคำบาลี หมายถึง ธรรมที่เหนือความเป็นโลก เหนือกาลเทศะ เหนือความเป็นคู่ เหนือสมมติ จะเข้าใจวลีใดก็หมายถึงเข้าใจ โลกุตตรธรรมทั้งสิ้น จากนิยาม สื่อชี้ชัดว่ามนุษย์ไม่ต้องสังเคราะห์ วิเคราะห์โลกุตตรธรรม เพราะโลกุต    ตรธรรมย่อมเป็นอมตธรรมเสมอ หน้าที่ของพุทธบริษัทต้องพยายามเข้าใจและเข้าแจ้งว่า โลกุตตรธรรมย่อมเป็นอมตธรรมเสมอไม่ว่าจะรู้-จะไม่รู้ จะเชื่อ-จะไม่เชื่อ จะโง่-จะฉลาด โลกุตตรธรรมจึงเป็นความอัศจรรย์ของพุทธธรรมที่ ท่านพุทธทาสภิกขุนำมาเชิดชู หนำซ้ำท่านยังชี้ชวนให้เข้าใจโลกุตตรธรรมด้วยภาษาปากง่ายๆ เช่น นิพพานคือความเย็นนิโรธคือความสงบ นิพพานย่อมพบได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้เพราะมีอยู่พร้อมกับสังสารวัฏฏ์   “ศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ” แต่ต้องเป็นศีลธรรมในความหมายของภาษาธรรม ศีลธรรมต้องได้รับการอธิบายให้โยงกับหลักสัจธรรม น่าเสียดาย ศีลธรรมในสังคมไทยได้รับการเน้นย้ำแค่ระดับภาษาคน ซึ่งเป็นการอธิบายแค่ภาษาของผู้มีตัวตน เป็นการอธิบายศีลธรรมที่ไม่สอดรับกับความเจริญทางเทคโนโลยีของการสื่อสารที่เหนือสถานที่และเวลา อันที่จริงต้องให้เยาวชนมีความรู้เรื่องศีลธรรม ในระดับควอนตัมเมคานิกส์ ต้องให้ทุกคนเชื่อในอำนาจของเหตุปัจจัยที่ตนได้ประพฤติปฏิบัติไว้ดีแล้ว เพราะเหตุปัจจัยที่ประพฤติไว้ดีแล้วจะตามปกป้องคุ้มครองยิ่งกว่าระบบประกันชีวิต ระบบเตือนภัยทุกระบบ ต้องอธิบายหลักของศีลธรรมให้เห็นอานุภาพของการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ว่าเป็นปาฏิหาริย์ยิ่งกว่าความเจริญทั้งหมดของเทคโนโลยี คุ้มภัยทั้งปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า อธิบายให้เห็นอานุภาพของศีลธรรม เพื่อให้ผู้คนศรัทธาอยากรักษาศีล เพราะแต่ละคนอยากได้โชค ลาภ สรรเสริญ สุข จึงต้องปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอธิบายอำนาจของศีลธรรมนั้นเที่ยงตรง และทำนายผลลัพธ์ได้แม่นยำ ให้ผู้คนเห็นอำนาจของศีลธรรมชัดเจนยิ่งกว่าการทำนายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หลักของทาน ศีล ภาวนา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญาก็ต้องอธิบายเป็นปรมัตถธรรม ถ้าอธิบายได้ขนาดนั้น จึงจะเป็นปริยัติที่ถูกต้องผู้คนจะนำไปปฏิบัติได้ตรงจริง ตามที่ ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวถึง
                              ๓. จิตว่าง คือ จิตที่รับผิดชอบได้มากขึ้น คำว่า “จิตว่าง” ที่ ท่านพุทธทาสภิกขุ บัญญัติขึ้นมา เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ของการว่างจากการยึดมั่นถือมั่นว่า ตนว่าของตน (ตัวกู–ของกู)จิตว่าง ย่อมมีอยู่แล้วเป็นปกติตามธรรมชาติ ยกเว้นคนจิตวุ่นจนเป็นบ้าในโรงพยาบาลโรคจิต (แต่ก็ยังคงมีจิตว่างบ้างอยู่ดี)สำหรับผู้ที่สามารถเข้าถึงธรรมชาติตรงจริง (ญาณทัสสนะ) ย่อมทรงความเป็นจิตว่างได้มากกว่า เท่ากับกำลังของปัญญาที่เห็นปรากฏการณ์ตรงหน้าตามความเป็นจริง ท่านทะไลลามะ ประมุขของทิเบต ส่งเสริมให้เยาวชนทิเบตได้เข้าถึงจิตว่างผ่านกระบวนการ ถาม–ตอบธรรม (ปุจฉา–วิสัชชนา)ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวเรื่องความว่าง และจิตว่างไว้แล้วอย่างพิสดาร ท่านสรุปว่า การเห็นความว่างกับการเห็นไตรลักษณ์ คือเรื่องเดียวกัน เหตุการณ์ที่ทันสมัยมาเป็นกรณีตัวอย่างวิเคราะห์ข้อมูลจริงที่ทุกคนเห็นจริงตามสามัญสำนึก เพื่อให้เห็นถึงอำนาจของอนัตตา สิ่งที่พุทธศาสนาเถรวาทเน้นย้ำ และเผยแพร่ไว้แล้ว ในชื่อว่า “อนัตตากับชีวิตที่ทันสมัย”สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงให้เห็นถึงอำนาจของอนัตตาที่มีผลให้ดีให้ชั่วกับมนุษย์อย่างมหาศาล เป็นสิ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงแนวคิดใหม่ เปลี่ยนจากแนวความคิดแบบตะวันตก ที่ใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง ตัดสินดีชั่วจากความเห็นของตน เปลี่ยนมาเป็นการเห็นด้วยแนวความคิดใหม่ คือเห็นความจริงว่า สรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกันอยู่ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะไม่ขึ้นหรืออิงอาศัยสิ่งอื่น การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ การคิดแบบอิงอาศัย หรือ ปฏิจจสมุปบาท หรือ การคิดแยบคายเชิงพุทธ จะมีอำนาจลดกำลังของตัวกู-ของกูทุกลักษณะ การคิดแบบตะวันตกล้วนๆ มีแต่จะเพิ่มกำลังของตัวกู (ของกู) ให้มากขึ้น ยิ่งทำให้จิตของผู้คนไม่ว่าหรือยิ่งมีชีวิตอยู่นานยิ่งเครียด เครียดได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรเป็นสาระ วิธีลดความเครียดทุกชนิดจากจิตของทุกคน คือ การเปลี่ยนกระบวนการคิดเสียใหม่ คิดให้เห็นคุณค่าความจริงว่า ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์และอิงอาศัยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ปรากฏการณ์ในชีวิตจริง มีอยู่ทุกขณะ ทุกสถานที่ ใช้เหตุการณ์ที่ทันสมัยได้ทุกอย่าง ให้เยาวชนนำปรากฏการณ์ทุกชนิดมาอธิบายให้เห็นอำนาจของไตรลักษณ์ โดยเฉพาะอนัตตาจนเข้าใจได้ด้วยตนเองเห็นพระไตรลักษณ์ที่กำกับชีวิตอยู่ทุกขณะ จิตว่างจะได้เกิดมากขึ้น ความเครียดก็จะลดลงเองโดยอัตโนมัติ น่าเสียดาย ที่สังคมไทยทิ้งกระบวนการคิดแบบอิงอาศัยไปอย่างไม่ไยดี ทั้งๆ ที่เป็นแก่นของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า นักคิดชาวตะวันตกกำลังคืบเข้ามา และพร้อมแล้วจะเปลี่ยนกระบวนการคิดจากการใช้ตนเองเป็นศูนย์กลางหันมาคิดแบบอิงอาศัย หรือ การคิดแบบปฏิจจสมุปบาท หรือสังคมไทยจะเห็นจิตว่างเป็นเรื่องตลกๆ น่าสมเพช เสมือนค่านิยมไทยที่เห็นใครเข้าวัดเป็นคนสิ้นคิด จิตว่างต้องอยู่ในหัวใจคน ไม่ใช่อยู่ในแผ่นวีซีดี ความรับผิดชอบต้องแสดงด้วยการกระทำที่ทำถูกต้องดีงาม ได้ผลดีจริง ไม่ใช้แค่รับผิดชอบแต่วาจา เสมือนภาษาดอกไม้ที่นักการเมืองอาชีพมักนำมากำนัลชาวบ้าน      ผู้เป็นเบี้ยล่างของโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ทุกวันนี้ เห็นมีแต่แข่งขันกันมอมเมาให้เยาวชนของชาติยกระดับฐานะทางสังคม ด้วยอาหารขยะบ้าง โทรศัพท์มือถือบ้าง เครื่องสำอางบ้าง ฯลฯ เมื่อจิตของเยาวชนวุ่นเสียแล้ว ความรับผิดชอบที่จะมีต่อสังคมในข้างหน้าจะทำอย่างไร
                              ๔. ไม่อวดเคร่งนั้นแหละคือเคร่งจริง ได้ผลจริง “เคร่ง” เป็นภาษาไทยที่เป็นคำโดด สื่อความหมายถึงการตรงต่อกฎเกณฑ์ ระเบียบ วินัย ประเพณี“อวดเคร่ง” เป็นภาษาไทยที่ใช้คำโดดสองคำมาเชื่อมกัน สื่อความหมายว่า ประพฤติติดกฎเกณฑ์ ระเบียบ วินัย ประเพณี จนกลายเป็นสัญลักษณ์แทนตัวเจ้าของ เรื่องที่พบเห็นกันบ่อย คนอวดเคร่งเมื่อเป็นใหญ่ มักจะบังคับผู้ใกล้ชิดให้เคร่งตามตน และถ้าใครไม่ทำตามก็จะถูกกดดันทางลบ คนอวดเคร่งจึงมักสร้างเรื่องวุ่นวายในสังคม ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ที่ขบกัดคนใกล้ชิดไม่ให้อยู่สุข มีพิษเหมือนมดแดงหวงรัง จนกระทั่งเรื่องใหญ่ที่กลายเป็นความขัดแย้งระดับชุมชน จนถึงระดับโลก คนอวดเคร่งมักจะมีปมด้อยอยู่ภายใน จึงใช้การติดระเบียบวินัย กลบปมด้อยภายในเอาไว้ ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวว่าคนที่เคร่งจริง เพราะเห็นคุณค่าของกฎ ระเบียบ วินัย ประเพณีเหล่านั้น จะมีความผ่อนปรนและจะไม่บังคับผู้อื่นให้ทำตามด้วยอำนาจ บางคนเคร่งประเพณีเพราะต้องการแก้แค้น เช่น เคร่งต้องจัดงานต้อนรับน้องใหม่   เคร่งต้องสวดมนต์ทุกวัน ใครขาดจะต้องถูกลงโทษ เพราะตนเคยถูกแกล้งถูกข่มขี่มาแล้ว ต้องการเอาคืน บางคนภูมิใจเหลือหลาย ที่เขาเล่าลือว่าตนเคร่งกฎ ระเบียบ ตรงตัวอักษร ลืมคิดไปว่า ต่อให้เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ถูกสมมติว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างแท้จริง เป็นบทบัญญัติควบคุมความประพฤติของคน คนแต่ละคนมีเหตุปัจจัยที่เป็นกรรมเฉพาะตน คนจะฉีกกฎหมายทิ้ง เมื่อเข้าถึงที่อับจน นักวิชาการที่เคร่งการอ้างอิงข้อมูลทันสมัย บางทีก็ลืมไปว่า นั้นแสดงว่าความมั่นใจภายในของตนก็ไม่มีด้วย ต้องอ้างอิงผู้อื่นอยู่เป็นนิจ ข้าพเจ้าได้เขียน “กาลามสูตรสิบ” สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ.๒๕๔๙ เพื่อชี้ให้เห็นความเป็นเบี้ยล่างทางความรู้และความคิดของมนุษย์สิบประการ กาลามสูตรสิบ เป็นวาทะธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ทรงพระกรุณาเตือนสติ คนติดเคร่งทั้งหลาย ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ไม่ว่าจะดูประเสริฐเท่าใด ลองอวดเคร่งเมื่อใด แสดงว่าภายในใจเต็มไปด้วยปมด้อย และกำลังใช้กฎระเบียบ วินัย ประเพณี เป็นเครื่องมือเพื่อเสริมโชค ลาภ สรรเสริญ สุขของตนเอง คนอวดเคร่งจึงมักลงเอยด้วยประโยชน์ตนที่ซ่อนเร้น นับเป็นความเห็นแก่ตัวที่มองเห็นได้ยาก ยิ่งอวดเคร่งมาก ยิ่งรวมพวกพ้องได้มาก ยิ่งตั้งตัวเป็นเจ้าสำนัก เจ้าลัทธิ ผู้ตรงตัวอักษร ยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้สังคมได้ เช่น ผู้นำประเทศที่นำประเทศเข้าสู่สงคราม หรือ ทำให้เกิดสงครามกลางเมือง ทำให้เกิดการต่อต้านทางการเมือง ล้วนแล้วแต่ต้องอ้างการเคร่งตัวบทกฎหมายทั้งนั้น ผู้ที่เห็นคุณค่าของกฎ ระเบียบ วินัย ประเพณีจริงๆ จะรักษาสิ่งดังกล่าวไว้ได้อย่างมั่นคง จะไม่ต้องการหาพวก หาลาภสักการะจากการถือเคร่ง เพราะคุณค่าของสิ่งที่เขาประพฤติ ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ วินัย ประเพณีนั้น ทำให้เขาค้นพบความจริงภายในตนเอง กฎ ระเบียบ วินัย ประเพณี แท้จริงเป็นเสมือนรั้วที่ให้ความอุ่นใจ เปรียบดังบ้านที่ล้อมรั้ว ซึ่งทุกคนจะล้ำรั้วมาไม่ได้ ยกเว้นมีเจตนาทุจริตต่อผู้อยู่ภายในบ้านเท่านั้น สังคมที่เคร่งตัวอักษร มักจะเผชิญกับคอร์รัปชั่นใต้โต๊ะ การล็อบบี้ การสร้างพวก พรรค ลัทธิ เพื่อแอบแฝงผลประโยชน์ร่วมกัน การประเมินคุณค่าทางวิชาการ คุณภาพของการทำงานด้วยตัวอักษร บั่นทอนกำลังใจของผู้ทำงานจริง และไม่อวดเคร่ง บางทีการขาดคุณธรรม จริยธรรมของครู ของอาจารย์ ของแพทย์ ของพระ และอื่นๆ อาจเพราะมิจฉาทิฏฐิของผู้บริหารที่ชอบอวดเคร่ง ผู้ได้ดีเพราะอวดเคร่งเลยบังคับให้ผู้อื่นอวดเคร่งตาม ทำให้ความขัดแย้งเลยแบ่งบานทั่งสังคมไทย
                               ๕. รบกันพลางแลกธรรมกันพลาง
นี้ก็เป็นอีกหนึ่งวาทะธรรมของ ท่านพุทธทาสภิกขุ ที่ประกาศสัจธรรมในจิตมนุษย์ ด้วยภาษาไทยที่เข้าใจง่าย เห็นภาพชัด ความขัดแย้งและหยุดขัดแย้งมีอยู่เป็นปกติภาวะท่านพุทธทาสภิกขุ มีพรสวรรค์ในการบัญญัติคำไทย ใช้คำศัพท์ที่เป็นคำไทยแท้ ที่คนไทยปัจจุบันทอดทิ้งเกือบหมด แต่ท่านเรียกกลับมาใช้ใหม่ เพื่ออธิบายสภาวะของจิตที่ถูกบัญญัติเป็นภาษาบาลี โดยเฉพาะคำบางคำยิ่งได้รับการแปลยิ่งอ่านไม่เข้าใจ คำไทยแท้ ที่เป็นคำโดด นำมาอธิบายใหม่ทำให้เข้าใจได้ทันที ตัวอย่างเช่น นิพพานหมายถึงความเย็นสภาวะของนิพพานสังเกตได้จากสะอาดสว่างสงบมีอะไรก็มีเถิดแต่อย่างมีตัวกูของกู (รวยแค่ไหนไม่เป็นปัญหาแต่อย่าคิดว่ากูรวยครอบครัวของกูประเทศของกูรวย)ทำอะไรก็ทำเถิดแต่ยกผลงานให้พระธรรม (ขยันแค่ไหนไม่เป็นปัญหาแต่ขอให้ทำเพื่องาน)แม้กระทั่งวิปัสสนาญาณขั้นสูงสุด ชนิดที่เป็นญาณทัสสนะ ดูเหมือนสุดขั้วของความเข้าใจ ท่านบัญญัติด้วยคำไทย เข้าใจง่าย รู้ชัด “กูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย” (อตัมมยตา)มนุษย์ตลอดทั้งวัน และทุกวัน รบกับกิเลสของตนเอง ในรูปของนิวรณ์ห้า ใครไม่มีสติคอยปราบนิวรณ์ห้าไว้บ้าง จะพบสงครามภายในจิตของตน ตั้งแต่ลืมตาตื่นนอน... เช่น จะลุกดีไหมหนอ? นอนต่ออีกนิด! จะบริหารร่างกายดีไหมหนอไปกินกาแฟก่อนไปดูทีวีไปฟังเพลงฯลฯยิ่งผู้ที่อ่อนการฝึกอบรมจิตของตน ให้รู้จักข่มนิวรณ์ห้าบ้าง เช้าขึ้นก็เริ่มหงุดหงิด ไม่ได้ดังใจแต่เช้า ด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เรื่องกระจิริดแต่ถูกทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเลือกเอาฝ่ายนิวรณ์ห้า ไม่เลือกฝ่ายสติ ยิ่งสมัยนี้ มีกินดี อยู่ดี โดยถ้วนทั่ว ปัญหากระจิดริดเป็นเหตุของความขัดแย้งระหว่างคนในครอบครัวได้ง่ายที่สุด ผู้ที่ถูกเลี้ยงให้เอาแต่ใจตัว พบปัญหานิดหน่อยที่โรงเรียนก็ทำให้เป็นปัญหาใหญ่ได้ การอบรมเลี้ยงดูเด็กไม่ให้เข้าใจธรรมชาติของนิวรณ์ธรรม สร้างเด็กที่เห็นแก่ตัว เด็กที่เอาแต่ใจ คิดแต่จะเอา ไม่คำนึงถึงว่าผลลัพธ์จากการกระทำของตนเองสร้างความเดือดร้อนให้ใครบ้าง
ลองว่าได้เกิดมาเป็นคน ถ้าไม่ได้รับการอบรมให้เข้าใจว่า นิวรณ์ห้า เป็นอาหารของอวิชชา เด็กคนนั้นเกิดมาก็นับว่าเสียชาติเกิด การเกิดเป็นมนุษย์จะสุดประเสริฐ ถ้าได้มีโอกาสใช้กายและจิตของตน ศึกษาอบรมขัดเกลานิวรณ์ห้า และฝึกฝนอบรมบ่มเพาะพรหมวิหารสี่ให้เจริญ ถ้าเกิดมาแล้ว ยิ่งพอกพูนนิวรณ์ห้าให้เจริญ เรียกว่าเสียชาติเกิด ผู้ที่ศึกษารู้จักตนเองมีชีวิตอยู่แม้เพียงวันเดียวยังดีกว่าผู้เกิดมา บ่มเพาะนิวรณ์ให้แก่กล้า และมีชีวิตอยู่หนึ่งร้อยปี ลักษณะของนิวรณ์ห้าที่ข่มจิตมนุษย์ จนเป็นนายเหนือจิตมนุษย์ สามารถลากกระชากให้จิตใฝ่ต่ำได้ง่ายขึ้นๆ มีดังต่อไปนี้เมื่ออยากได้กามวัตถุ (คน สัตว์ สิ่งของ) จะต้องเอาให้ได้ เพราะถูกกามวัตถุกระตุ้นอกุศลจิตชนิดที่เรียกว่าจิตเปรต เมื่อไม่อยากได้กามวัตถุ (คน สัตว์ สิ่งของ) จะต้องขว้างทิ้ง ทอดทิ้ง กำจัดทิ้ง เพราะถูกกามวัตถุกระตุ้นอกุศลจิตชนิดที่เป็นจิตอสุรกาย เมื่อฟุ้งซ่าน ชอบฝันกลางวัน ฝันในสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เมื่อรำคาญใจ ชอบหงุดหงิดกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่รู้จักข่มใจ ไม่รู้จักอดทน มีสภาพคล้ายคนตกนรก เรียกว่า จิตนรก เมื่อเหงา เศร้า ซึม เซ็ง โดยไม่มีสาเหตุ เช่น อยู่ท่ามกลางญาติมิตรก็เหงา อยู่ท่ามกลางเครื่องบันเทิง เครื่องเล่นสารพัดก็เซ็ง จะอยากได้อะไรก็ไม่แน่ใจ หมุนไปหมุนมา จับต้นชนปลายไม่ได้ซักที เรียกว่า จิตดิรัจฉาน ชอบสงสัยไปทั่ว เช่น สงสัยอาหารเป็นพิษ น้ำ อากาศเป็นพิษ สังคมเป็นพิษ ความรู้เป็นพิษ หรือไม่ก็ตรงกันข้ามอีกขั้วหนึ่ง คือ ตอบรับไปทั่ว กลายเป็นสมุนของผู้ที่ฉลาดกว่า ที่ดึงตนเข้ามาเป็นพวก ทางโฆษณาบ้าง ทางประชาสัมพันธ์บ้าง เรียกว่า จิตหลง คนทุกคนเกิดมาพร้อมกันนิวรณ์ห้า หน้าที่ของทุกคนจึงต้องทำความรู้จัก ต้องรู้ทันอกุศลจิตของตนเอง ต้องควบคุมให้อยู่ในความถูกต้องได้บ้าง ต้องคอยขนาบ คอยสร้างสติขึ้นมา ข่มนิวรณ์ห้าบ้าง เพื่อให้การดำรงชีวิตอยู่ในทางสายกลาง
ถ้าลองเป็นเบี้ยล่างของนิวรณ์ห้าเสียแล้ว
                                 จิตของมนุษย์จะทำสวรรค์ให้เป็นนรก ได้ทุกเวลา มนุษย์ที่ถูกนิวรณ์ห้าข่มขี่ จึงหาความสุขจากความสงบไม่ได้ ถูกนิวรณ์ห้ากระชากลากจิตไป ต้องเป็นทาสของสิ่งกล่อม หรือ ปัจจัยภายนอก ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สังคมที่มีสมาชิกเป็นทาสของนิวรณ์ห้า จะไปหวังพัฒนา หาความเจริญ หาความสุขไม่ได้เลย แม้พัฒนาฝนให้ตกเป็นทองคำ คนก็ยิ่งฆ่ากันมากขึ้น นิวรณ์ห้ามีหน้าที่ทำให้จิตขบกัดตนเอง สำนวนของท่านพุทธทาสภิกขุ คือ จิตกัดเจ้าของ จะหาความสุขได้อย่างไร นอกจากต้องใช้ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ นารี พาชี กีฬาบัตร และอกุศลวิถีอื่นๆ ถ้าจะกำจัดความเสื่อมโทรมของสังคม ต้องสอนให้ทุกคนเห็นคุณค่าของสติ ที่เป็นมิตรแท้ภายใน เป็นมิตรแท้ภายในตัวจริง ช่วยพัฒนาความสุขให้เกิดภายในได้จริง ผู้ใดลดกำลังของศัตรูภายใน (นิวรณ์ห้า) เพิ่มมิตรแท้ภายใน (สติ) มากขึ้นก็จะเป็นตัวอย่างของผู้มีคุณธรรม จริยธรรม ตัวจริง เขาอยู่ ณ ที่ใด ความเป็นอยู่ของเขาเป็นครูของผู้คนรอบข้างได้จริง เขาพูดอะไร วาจาของเขา เป็นมงคลแท้จริง -เขาทำอะไร การกระทำของเขาย่อมให้ผลถูกต้อง ก่อความสุข ทำให้ดูได้เป็นแบบอย่างที่ดี มีผู้คนอยากทำตาม นี้คือความหมายขั้นลึกของ “รบกันพลางแลกธรรมกับพลาง” ของ ท่านพุทธทาสภิกขุ
                           บทสรุป
                                             “คิด...อย่างทองนพคุณ” เป็นการนำข้อมูลจริง ของโลกาภิวัตน์มาวิเคราะห์ ภายใต้วาทะของ ท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งแถลงไว้คราวสวนโมกข์สมโภชน์ครบห้าสิบปี ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้นำเรื่องสุญญตาหรือความว่าง มาอธิบาย จนได้รับการขนานนามว่า “นาคารชุนของเถรวาท” การเน้นย้ำการปฏิบัติธรรมว่า ทำได้ทุกที่ทุกเวลา ทุกอาชีพ ทำได้แม้อยู่ที่บ้าน อยู่กลางไร่ กลางนา อยู่ในที่ทำงาน ทำให้ท่านได้รับการขนานนามว่า “เซนของเถรวาท” การพยายามช่วยลดความขัดแย้งของประชาคมโลก โดยตั้งปณิธานสามข้อ ซึ่งเป็นปณิธานที่ทำให้ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นคนของโลก ลองพินิจปณิธานทั้งสามข้อของท่านแล้วน่าอัศจรรย์ ดุจดังท่าน คือ ศาสดาพยากรณ์ความจริงไว้ล่วงหน้า ปณิธานข้อที่หนึ่ง ขอให้ทุกคนเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน เช่น พุทธบริษัทต้องเข้าใจ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท สุญญตา ฯลฯ จนถึงทุกวันนี้ มีพุทธบริษัทกี่คนที่เข้าถึงแก่นธรรม (ภาษาธรรม) ของพุทธศาสนา ปณิธานข้อที่สอง ขอให้ทำความเข้าใจระหว่างศาสนา ต้องร่วมมือช่วยกัน อธิบายความหมายของศาสนาเสียใหม่ ให้สอดรับกับความเป็นจริง ที่ว่า ศาสนาเป็นเครื่องมือลดความเห็นแก่ตัวของทุกคน.... จนถึงทุกวันนี้ คนยิ่งอวดเคร่ง ยิ่งก่อสงคราม โดยอ้างศาสนาบังหน้าผลประโยชน์ของตน ปณิธานข้อที่สาม ขอให้ทุกคนออกมาจากอำนาจของวัตถุนิยม ออกมาจากความรู้ที่ดับทุกข์ไม่ได้ ออกมาจากสิ่งกล่อมที่ทำให้คนเป็นทาส ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ขอให้ร่วมด้วยช่วยกัน ใช้วัตถุพัฒนาจิต ให้จิตอยู่เหนืออำนาจของวัตถุ ทุกวันนี้ผู้คนเป็นเบี้ยล่างของวัตถุเห็นได้ในทุกสถานที่ แม้แต่ในวัด ในบ้าน ในโรงเรียน ในไร่นา ฯลฯ ผู้คนใฝ่ฝันอยากได้วัตถุเข้ามาเป็นตัวกลางช่วยงาน เพิ่มเงิน โดยคิดจะเอา เพื่อให้ตัวสะดวก ตัวสบาย ทำให้ธรรมชาติต้องรับภาระ แบกความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ จนเกิดกระบวนการยับยั้งป้อนกลับด้วยกฎของธรรมชาติ กลายเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ท้าทายความอยู่รอดของมนุษย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ทำตัวเป็นกัลยาณมิตร ท่านพยายามรับใช้พระพุทธเจ้า โดยเห็นว่า การใช้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแผนที่นำทางชีวิต เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้พยายามอธิบาย โลกุตตรธรรมว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่เอง มีประโยชน์จริง เป็นที่พึ่งของมนุษย์ได้จริง ท่านใช้วาทะธรรม เป็นคำไทยเดิม เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงแก่นธรรมได้ด้วยตนเอง วันนี้ฉลองครบรอบ ๗๕ ปี สวนโมกข์ คือ ฉลองอย่างทองนพคุณ วันหน้าฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี สวนโมกข์ ฉลองอย่างเพชร วันไหนๆ โลกุตตรธรรมก็เป็นเรื่องมีอยู่เอง เป็นทองนพคุณสำหรับผู้ที่มีศรัทธาในโลกุตตรธรรม เหนือกาลเทศะ ทุกวัน ทุกกาลเวลา ตราบใดที่ศรัทธาต่อโลกุตตรธรรมยังมีอยู่ มนุษย์ก็มีสิทธิ์ที่จะดับทุกข์ในใจได้ด้วยตนเอง โดยตนเอง ตามแผนที่ธรรมของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ศัตรูที่ถาวรของมนุษย์ คือ นิวรณ์ห้า โดยมีความลังเลสงสัยเป็นหัวหน้าทำลายศรัทธา ศรัทธา คือ ต้นกล้าของกุศลธรรมหน้าที่ของผู้บริหารที่มีกัลยาณธรรม คือ ช่วยสร้างปัจจัยให้ประชาชนเกิดศรัทธาในโลกุตตรธรรม ให้ทุกคนได้ใช้โลกุตตรธรรมเป็นที่พึ่งทางจิตอย่างถาวร

 



ดาวน์โหลดไฟล์แนบ

ผู้เขียน : khunsuphot
หน่วยงาน : สพท.สป.2
เสาร์ ที่ 4 เดือน กันยายน พ.ศ.2553
เข้าชม : 3042
5 stars เฉลี่ย : 5 จาก 1 ครั้ง.


ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 5 อันดับล่าสุด

      การบริหารความเสี่ยง 8 / ส.ค. / 2554
      การเขียนบทความทางวิชาการ 2 / พ.ย. / 2553
      การเขียนบทความทางวิชาการ 2 / พ.ย. / 2553
      การคิดอย่างทองนพคุณ 4 / ก.ย. / 2553
      หลวงพ่อพระใส 26 / ส.ค. / 2553


เชิญร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์จัดการความรู้
สิทธิของสมาชิก สามารถบันทึกขุมความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดาวน์โหลดได้
คลิกที่นี่สมัครสมาชิก