[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by KMOBECMAXSITE 1.2.1
    


นวัตกรรมและเทคโนโลยี
เรื่อง : “รักความเป็นไทย” ต้องมีสุนทรียรสในภาษาไทย
ความรู้จากการปฏิบัติงาน



รักความเป็นไทย  ต้องมีสุนทรียรสในภาษาไทย

ครูรัชชุดา  ธัญรดาวงศ์

 

                         รักความเป็นไทย  เป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ข้อหนึ่งของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะดังกล่าว  เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข  ในฐานะเป็นพลเมืองไทยและพลโลก

                          อะไรบ้างที่แสดงถึงความเป็นไทย  ที่ครูจะสามารถจัดกิจกรรมเพื่อก่อให้เกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์นี้  ก็คงมีมากมาย  แต่ที่ผู้เขียนเห็นว่ากิจกรรมที่น่าจะใช่แน่นอนก็คือ  กิจกรรมฟัง  พูด  อ่าน  เขียนภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง  และอย่างมีสุนทรียรสทางภาษา  นั่นเอง

                         สุนทรียรสจะทำให้คนเกิดความซาบซึ้ง  เห็นคุณค่าของความงามของภาษา  มีความสงบของจิต  มีสมาธิ  สามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์  ช่วยฝึกให้รู้จักคิด    ฝึกการเป็นผู้นำ  กล้าแสดงออก  และสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ  เกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

                        กิจกรรมที่จะก่อให้เกิดสุนทรียรสทางภาษาได้อย่างชัดเจน  ก็คือ  การอ่านบทร้อยกรองเป็นทำนองเสนาะ

                         บทร้อยกรองที่มีคุณค่า  กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้เป็นบทอาขยาน  แต่เดี๋ยวนี้

บทอาขยานกลายเป็นบทอาขยาดไปแล้ว  หาเด็กในโรงเรียนที่จะเป็นแม่แบบอ่านเป็นทำนองเสนาะก็ยากแสนเข็ญ  ทั้งครูเองก็ไม่กล้าพอที่จะเป็นแม่แบบให้เด็กได้   ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นต่อไป 

คำว่า  รักความเป็นไทยคงไม่เต็มร้อยแน่  จึงควรหันมาฟื้นฟูการอ่านบทร้อยกรองเป็นทำนองเสนาะ  เพื่อแสดงออกถึง  รักความเป็นไทย จริง ๆ

 

หลักการและทฤษฎี

                                                การเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียรสทางภาษาโดยใช้บทร้อยกรองเป็นสื่อ  อาศัยหลักการทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพทางศิลปะ  ดนตรีและพลศึกษา  ซึ่งเป็นแนวคิด  3  ทฤษฎีรวมกันคือ

                                                1.  ทฤษฎีความเหมือน   ผู้เรียนจะเรียนรู้โดยการเลียนแบบจากแม่แบบ 

ซึ่งประกอบด้วยการลอกเลียนแบบและการทำซ้ำ

                                                      1.1  การลอกเลียนแบบ  เป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะต้องเริ่มจากการคัดเลือกแม่แบบ  อาจเป็นครู  นักเรียน  ผู้รู้  ผู้เชี่ยวชาญ  หรือสื่อซีดี  วีซีดี  เทป   ที่จะสร้างให้เด็กเกิดความประทับใจหรือซาบซึ้งในเสียงที่ได้ยิน  แล้วเด็กจะอาศัยเลียนแบบ  เพื่อจะลอกเลียนเสียงให้เหมือนแบบ

                                                       1.2  การทำซ้ำ  เป็นการย้ำทักษะ  เพื่อให้เกิดความแม่นยำ  คล่องแคล่วเป็นอัตโนมัติ  ไม่เก่งแต่ชำนาญไม่เชี่ยวชาญแต่เคยมือ (ปาก)  การฝึกฝนก็คืออ่านแล้วอ่านอีก  อ่านแล้วก็อ่านอีก

                                                2.  ทฤษฎีความต่าง

                                                                เป็นความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงจากความซ้ำซากจำเจในการฝึกตามแบบ  ต้องการหาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อความตื่นเต้นและมีชีวิตชีวา

 

                                                3.  ทฤษฎีความเป็นตัวเอง

                                                                ผู้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เป็นอยู่  ทำอยู่  ไม่ใช่ของตัวเอง  จึงเกิดความพยายามที่จะสร้างอะไรขึ้นมาใหม่  เพื่อจะแสดงความเป็นตัวของตัวเองบ้าง  แม้จะน้อยนิดก็ยังดี  เป็นการแสวงหาทิศทางใหม่

                                                จากทฤษฎี  3  แนวทาง  ผู้เขียนจึงสรุปเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียรสทางภาษา  ด้วยการอ่านบทร้อยกรองเป็นทำนองเสนาะ  ดังนี้

                                                       ฝึกใส่ทำนองเอง                                                                    

                                            ฝึกท่องบทใหม่

                        ฝึกฝนจนคล่อง

เลียนแบบให้ได้ผล

 

1.  เลียนแบบให้ได้ผล     

                                                ต้นแบบหรือแม่แบบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดก็คืออาขยานบทหลักที่จะให้นักเรียนท่องจำ เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วประเทศ  และเพื่อให้การเลียนแบบได้ผล 

จำเป็นต้องมีวิธีการที่จะให้เกิดความประทับใจ/ซาบซึ้ง  โดยการให้นักเรียนได้ยินเสียงครูอ่านอย่างไพเราะ  หรือนักเรียนรุ่นพี่ที่ได้รับการเลือกเฟ้นให้มาอ่านเป็นตัวอย่างแก่น้อง 

2.  ฝึกฝนจนคล่อง

                         การได้อ่านบทร้อยกรองบทเดิมเป็นทำนองเสนาะบ่อย ๆ อ่านให้เกิดความแม่นยำ 

คล่องแคล่ว เป็นอัตโนมัติ  ทำจนเกิดความชำนาญ 

3.  ฝึกท่องบทใหม่

                         เพื่อให้เกิดความท้าทาย  และหนีจากความจำเจ  จึงให้นักเรียนได้เลือกบทร้อยกรองอื่น    หรือบทเลือกอิสระที่เป็นบทอาขยาน   เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่า  แม้บทใหม่ก็อ่านได้เหมือนกัน 

4.  ฝึกใส่ทำนองเอง 

                        การอ่านร้อยกรองเป็นทำนองเสนาะตามทำนองโคลง  ฉันท์  กาพย์  กลอน  ฯลฯ  นั้น  เมื่อฝึกฝนจนชำนาญแล้ว  จะมีความรู้สึกที่ต้องการเปลี่ยนแปลง  ต้องการบรรยากาศใหม่  ต้องการสร้างสรรค์ผลงานการอ่านออกมาในแนวทำนองอื่น ๆ  อาจเป็นทำนองเพลงไทยเดิม  ทำนองเพลงพื้นบ้าน  หรือแม้แต่ทำนองที่ตัวเองคิดขึ้น  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการแต่งเพลงต่อไป

                        ทั้งสี่ขั้นที่นำเสนอนี้  ครูต้องจัดเวทีให้เด็กได้แสดงออก  และเสริมด้วยการให้ขวัญ  กำลังใจ  เพื่อให้เขาก้าวไปสู่ความเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่  ให้ระลึกเสมอว่า  ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่คือผู้ที่สามารถแสดงความเป็นตัวเองได้อย่างชัดเจน  ...ผู้เขียนขอเชิญชวนมาช่วยกันหาแบบที่ดีกันเถอะ  ถ้ายังไม่มีหรือ

ยังไม่ดีพอ  ก็ให้ช่วยกันสร้างแบบที่ดีขึ้นมา แล้วเดินขึ้นบันไดสี่ขั้นที่ว่ามานี้........อาจจะพบว่า  วิธีนี้ช่วยแก้ปัญหาอื่นได้ด้วย....โชคดีค่ะ    

 



ดาวน์โหลดไฟล์แนบ

ผู้เขียน : รัชชุดา ธัญรดาวงศ์
หน่วยงาน : โรงเรียนวัดบางพลีใหญ่กลาง
อาทิตย์ ที่ 17 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2553
เข้าชม : 17012
4 stars เฉลี่ย : 4 จาก 40 ครั้ง.


นวัตกรรมและเทคโนโลยี 5 อันดับล่าสุด

      เทคนิคการจัดการเรียนรู้หลากหลายลีลาภาษาไทย 29 / ธ.ค. / 2554
      หนังสือส่งเสริมการอ่านสืบสานแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ชุดไปเรียนรู้กับครูอ้อย 19 / ต.ค. / 2554
      รูปแบบการจัดการความรู้ ๖ ก้าวเร้าใจสู่การเขียน 19 / ต.ค. / 2554
      การจัดการสิ่งแวดล้อม 2 / ส.ค. / 2554
      คิดจะแก้ปัญหาการใช้สื่อฯ ความคิดก็ต้องเปลี่ยนด้วย 2 / ส.ค. / 2554


เชิญร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์จัดการความรู้
สิทธิของสมาชิก สามารถบันทึกขุมความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดาวน์โหลดได้
คลิกที่นี่สมัครสมาชิก