[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by KMOBECMAXSITE 1.2.1
    


วิชาการ
เรื่อง : การศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์และในศตวรรษหน้า



การศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์และในศตวรรษหน้า

***********************************************************************************************                                                                                                

               ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาดูเหมือนว่าโลกจะถูกย่อลงด้วยวิทยาการก้าวหน้าด้านการสื่อสารโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีสารสนเทศได้เป็นปัจจัยผลักดันสำคัญที่ทำให้โลกไร้พรมแดนและทำให้พลโลกมีการติดต่อสัมพันธ์กันได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นนำไปสู่การผสมผสานความคิดค่านิยมตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างมวลมนุษยชาติหรือที่เรียกว่า กระแสโลกาภิวัตน์ที่นำโลกเข้าสู่ยุคแห่งการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างประเทศใหม่ ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกชาติทุกภาษารวมทั้งไทย

               เทคโนโลยีก้าวหน้าเนื่องจากการนำวิทยาศาสตร์ยุคใหม่มาประยุกต์ใช้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตมนุษย์อย่าคาดไม่ถึง โดยเฉพาะด้านการสื่อสารที่นำโลกเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์และสภาพ ไร้พรมแดนระหว่างประเทศนั้นได้นำมาซึ่งแนวโน้มที่น่าสนใจหลายประการ เช่น      

q  ในโลกของธุรกิจเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคติดต่อถึงกันได้รวดเร็วรูปแบบการขายตรงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคโดยไม่ผ่านคนกลางมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

q  ในโลกของสื่อมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศได้ทำให้เกิดความหลากหลายในรูปแบบวิธีการของการแสวงหาข่าวสาร  ทำให้คนมีเสรีภาพในการเลือกรับสื่อที่สอดคล้องกับรูปแบบชีวิตและรสนิยมของตนได้มากขึ้น

q  ในโลกของการศึกษา เครือข่ายข้อมูลข่าวสารต่างๆ ประกอบด้วยสื่อการศึกษาที่ทวีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ได้นำไปสู่รูปแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองที่เข้ามาเสริมระบบการเรียนแบบดั้งเดิม การเรียนรู้อยู่กับบ้านหรือที่ทำงานผ่านเครือข่าย        คอมพิวเตอร์ และสื่อสำเร็จรูปต่างๆ จะเป็นรูปแบบที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในอนาคต

q  ในด้านของโครงสร้างสังคมการเติบโตของภาคธุรกิจและประชาชนตลอดจนอำนาจของข่าวสารทำให้หน่วยต่างๆในสังคมมีพลังในการต่อรองดีขึ้นทำให้อำนาจจากส่วนกลางภายใต้ระบบรัฐอุปถัมภ์แบบดั้งเดิมลดน้อยลง มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น  และในขณะเดียวกันอาจเป็น      แรงกระตุ้นให้มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

q  ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสภาพ ไร้พรมแดนทำให้ รัฐชาติ ลดความสำคัญลง ในขณะที่ รัฐ ภูมิภาคทวีความสำคัญยิ่งขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ดังจะเห็นได้จากการรวมกลุ่มทางการค้าทั้งในอเมริกาเหนือยุโรป อาเซียนและเอเซียแปซิฟิค ที่กำลังก่อรูปขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันเกิดรูปแบบ     เศรษฐกิจข้ามชาติ ที่ส่งผลต่อทุกประเทศในโลก

               สายน้ำย่อมพัดพาทั้งสิ่งดีและปฏิกูลคละเคล้ากันมาฉันใด กระแสโลกาภิวัตน์ ที่กำลังไหลบ่าสู่สังคมต่างๆ ทั่วโลก ก็มีทั้งคุณและโทษต่อสังคมตามแต่กรณีไปฉันนั้น ประเทศหรือสังคมที่จะอยู่รอดและก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคงคือประเทศหรือสังคมที่เข้าใจกระแสโลกาภิวัตน์อย่างถ่องแท้สามารถพิเคราะห์และเลือกสรรสิ่งดีออกจากสิ่งไม่ดี โดยเฉพาะ

 

อย่างยิ่งในปัจจุบันที่กระแสนี้ยังไม่หยุดนิ่ง ยิ่งต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังว่า กระแสโลกาภิวัตน์ได้หยิบยื่นสิ่งดีที่เป็นโอกาสของประเทศอย่างไรบ้างและในขณะเดียวกันได้นำพาเอาสิ่งไม่ดีที่เป็นภัยคุกคามปลอมปนมาอย่างไรบ้าง

 

กระแสโลกาภิวัตน์กับโอกาสและ ภัยคุกคาม สังคมไทย

               กระแสโลกาภิวัตน์อาจมีผลดีหลายทาง นับตั้งแต่การโน้มนำให้เกิดความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างประเทศโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจดังจะเห็นได้จากแนวโน้มการรวมกลุ่มการค้าในระดับภูมิภาคและการจัดตั้งองค์กรการค้าโลกขึ้นในปัจจุบัน อันเป็นที่คาดหวังว่าจะช่วยสร้างเสถียรภาพ และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการค้าให้แก่ทุกประเทศ นอกจากนี้ กระแสโลกาภิวัตน์ช่วยเร่งกระบวนการถ่ายทอดและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาของประเทศต่างๆ เป็นไปโดยรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

               กระแสโลกาภิวัตน์ยังเป็นแรงผลังดันให้เกิดค่านิยมสากลที่เอื้อประโยชน์ร่วมกันของมนุษยชาติ อาทิค่านิยมประชาธิปไตย ค่านิยมว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค่านิยมเกี่ยวกับความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับสภาวะแวดล้อม เป็นต้น ค่านิยมสากลดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการสร้างความตระหนัก สำนึกต่อการแก้ปัญหาหลักบางเรื่องร่วมกันระหว่างประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งได้ทำให้ปัญหาหลักบางเรื่องกลายเป็นปัญหาร่วมกันของมนุษยชาติที่ทุกประเทศมิอาจหันหลังให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการลิดรอนประชาธิปไตย การคุกคามสิทธิมนุษยชน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ว่าจะปะทุขึ้น ณ จุดใดในโลก ก็ส่งผลเร่งเร้าให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองจากนานาประเทศได้

               กระแสโลกาภิวัตน์อาจส่งผลในทางไม่ดีด้วยทำให้ภาพการพัฒนาของโลกในอนาคตไม่แจ่มใสเท่าที่ควร กระแสโลกาภิวัตน์ส่งเสริมให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคการค้าเสรีทำให้การแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นไปอย่างเข้มข้นและรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระหว่าง กลุ่มการค้าภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยุโรป กลุ่มอเมริกาเหนือ กลุ่มอาเซียน หรือกลุ่มเอเซียแปซิฟิค การรวมกลุ่มทางการค้าและการวางกติกาการค้าสากล  ยิ่งทำให้การแข่งขันรุนแรง แม้ว่าจะไม่มีใครเลยที่จับจองการเป็น ผู้ชนะทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

               นอกจากนี้ กระแสโลกาภิวัตน์ที่กัดกร่อนวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศต่างๆ ยังก่อให้เกิดปฏิกิริยาโดยธรรมชาติในการแสวงหาเอกลักษณ์และเสรีภาพของกลุ่มชนต่างๆ การแสวงหาอย่างสุดโต่งได้ปรากฎออกมาในรูปของความคลั่งลัทธิเผ่าพันธุ์นิยม และลัทธิชาตินิยมทางวัฒนธรรม เราจะเห็นปัญหาความขัดแย้งจากความต้องการแยกตนเองเป็นรัฐอิสระของกลุ่มชนบางเชื้อชาติที่ก่อหวอดขึ้นจนถึงเป็นสงครามกลางเมืองในบางประเทศในปัจจุบัน ความขัดแย้งระหว่างรัฐชาติกับชนกลุ่มน้อยที่ต้องการสงวนรักษาเอกลักษณ์ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของตน จะยังคงเป็นชนวนแห่งความร้าวฉานที่ทำให้ประเทศต่างๆ ยังคงขาดสันติสุขที่พึงปรารถนาในอนาคต

               ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจบันเทิงแบบข้ามชาติที่ใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อ กลายเป็นกระบวนการครอบงำทางวัฒนธรรม และในบางครั้งก็เป็นการแผ่ขยายสิ่งมอมเมา และ ปฏิกูลทางวัฒนธรรมทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของแต่ละชนชาติและท้องถิ่น เมื่อผนวกกับธุรกิจโฆษณาที่เติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมด้วยเทคนิคนานาประการในการล่อใจ ยิ่งเป็นการเร่งกระแสบริโภคนิยมให้กับคนรุ่นใหม่ พร้อมกันนั้นก็เป็นการทำลายสามัญสำนึกและวิจารณญาณของประชาชนเกี่ยวกับแก่นสารและสาระในชีวิต ศิลปะกลายเป็นทาสรับใช้อุตสาหกรรมบันเทิงและการโฆษณาที่มุ่งแต่กำไร จนศิลปะได้สูญเสียพลังในการสร้างสุนทรียภาพทางจิตใจและการประเทืองปัญญาความคิดของคน

สู่โลกแห่ง กำลังปัญญา

               เมื่อกระแสโลกาภิวัฒน์ได้นำมาทั้งสิ่งที่เป็น คุณ และ โทษ  ต่อประเทศต่างๆ ดังกล่าวข้างตน คำถามที่ประเทศต่างๆ พึงถามตนเอง ก็คือ

q  ประเทศต่างๆ จะ ใช้โอกาสจากสิ่งดี และ หลีกเลี่ยงภัยคุกคาม  จากสิ่งไม่ดี ที่กระแสโลกาภิวัตน์ชักนำมาได้     อย่างไร ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

q  พันธกิจหรือพันธกรณี จากการวางกติกาทางเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศที่ผูกมัดประเทศต่างๆ มากขึ้น มีความหมายอย่างไรกับการดำเนินนโยบายการพัฒนาของประเทศนั้นๆ

q  กระแสเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้การรวมกลุ่มในรูป รัฐภูมิภาคดูจะมีความสำคัญกว่าความเป็นประเทศหรือ รัฐชาติ บ่งบอกบทบาทที่เหมาะสมของประเทศแต่ละประเทศในภูมิภาคนั้นๆ อย่างไร

q  กระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้ ปัญหาเขามาเป็นปัญหาเราด้วย นับตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ การค้า การเงิน ไปจนถึงเรื่อง   ทางสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ประเทศต่างๆ จะมีวิธีระวังตนอย่างไร ให้ รู้เขา-รู้เรา  และหลีกเลี่ยงหรือ    บรรเทาปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

               แม้ว่าคำถามดังกล่าวอาจยังไม่ปรากฎคำตอบชัดเจน รวมทั้งยังมีความไม่แน่นอนในเวทีระหว่างประเทศอยู่      สูง แต่สิ่งที่เป็นแนวโน้มที่พอสรุปได้สำหรับทุกประเทศ คือ

q  กระแสโลกาภิวัตน์ที่เปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนย้ายทุนและปัจจัยการผลิตระหว่างประเทศได้อย่างคล่องตัว ชี้ให้เห็น      ว่าความได้เปรียบของประเทศทั้งหลายในอนาคต คงมิได้ขึ้นกับความร่ำรวยของทรัพยากรธรรมชาติแต่อย่างเดียวอีก          ต่อไป หากแต่ขึ้นกับความถึงพร้อมด้านกำลังคนและเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ทรัพยากรบุคคลที่มีขีดความสามารถสูงจะ   สามารถนำประเทศไปสู่ความก้าวหน้าและมั่นคงในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์

q  พลเมืองแต่ละประเทศ ต้องมีความเป็น พลโลก และต้องมีขีดความสามารถสูงขึ้น ต้องมีความสามารถในการ รู้      เขา-รู้เรา สามารถติดต่อสัมพันธ์และเข้าใจเพื่อนร่วมโลกได้ดี

q  ประเทศต่างๆ ต้องมีพลวัต คือความสามารถในการปรับตัวสูง คนในชาติมีความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัว ต่อสถานการณ์ใหม่ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมได้ดี ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทาง          สังคม

q  ประเทศต่างๆ ต้องมีหลักที่ดีในการสงวนรักษาเอกลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของตนเอง ต้องเตรียมเผชิญ ความสับสนทางค่านิยมและวัฒนธรรม  จากกระแสโลกาภิวัตน์ คนในชาติจึงต้องมีปัญญาที่จะใตร่ตรองใคร่ครวญ   และมีความรู้เท่าทันความเจริญทางวัตถุ  มีความพอดีระหว่างการแสวงหาปัจจัยต่างๆ   ในชีวิตกับการรักษาไว้ซึ่งค่า         นิยมและวัฒนธรรมอันดีงาม เพื่อให้สามารถก้าวไปกับโลกได้อย่างมั่นคงและรู้เท่าทัน

 

               เมื่อมองย้อนไปยังประเทศทั้งหลายที่เป็นผู้นำในเวทีโลกในอดีตจะประจักษ์ว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่อธิบายความสำเร็จของประเทศชาตินั้นๆ ประเทศชาติใดกอปรด้วยกำลังคนที่มีการศึกษาสูงก็ย่อมหวังสติปัญญาความคิดและพลังสร้างสรรค์จากประชาชนได้มากเป็นเงาตามตัว ดังนั้น ไม่ว่ากระแสโลกาภิวัตน์จะชักนำประเทศต่างๆ ไปในทิศทางใดก็ตามการศึกษาจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาบุคคลให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ดังกล่าวข้างต้น และเป็นพื้นฐานที่จะช่วยเสริมสร้างให้ประเทศ มีทั้งความสามารถในการร่วมมือและแข่งขันกับนานาประเทศ มีความจีรังยั่งยืนในการพัฒนา เป็นกำลังปัญญาในการช่วยให้ประเทศสามารถแสวงหาโอกาสอย่างเหมาะสม สามารถหลีกเลี่ยงภัยคุกคามต่างๆ ได้อย่างทันการในยุคสมัยที่โลกมีความสลับซับซ้อนยากแก่การเข้าใจขึ้นเป็นลำดับ  โลกในอนาคตจึงมิใช่โลกที่จะประชันกันด้วยกำลังอาวุธอีกต่อไป แต่จะเป็นโลกที่ประชันกันด้วยกำลังปัญญา ประเทศใดมีกำลังปัญญามาก ก็ย่อมมีหนทางสร้างโอกาส แสวงหาความร่วมมือ และสร้างสถานะในเวทีโลกได้มาก

 

สังคมไทยในเส้นทางการเปลี่ยนแปลง

               ในขณะที่กระแสโลกาภิวัตน์ได้บ่งบอกคำถามที่สำคัญหลายคำถามแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นคำถามเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงคำถามเกี่ยวกับความพร้อมของประชาชนที่จะเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ๆ ของประเทศนั้น ในส่วนของไทยเราเอง นอกจากต้องขบคิดประเด็นคำถามเหล่านี้ในฐานะสมาชิกของประชาคมโลกแล้ว ยังสภาพการณ์และแนวโน้มในสังคมไทยเราเองที่สำคัญ และต้องนำมาพิจารณาประกอบอีกหลายเรื่อง ทั้งในด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม แนวโน้มสำคัญที่พึงพิจารณา เช่น

q  แนวโน้มประชากรและการสาธารณสุขที่แสดงว่าสัดส่วนประชากรวัยเด็กลดลงในขณะที่ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นนำมา   ซึ่งปัญหาอัตราการพึ่งพิงของประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้น และชี้ถึงความจำเป็นในการพัฒนาการสาธารณสุขพื้นฐาน และคุณภาพประชากรทุกระดับอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายช่วง วัยผลิต ของวัยแรงงานให้นานออกไป อันเป็นผลดีต่อ    ทั้งประเทศชาติ และเพิ่มคุณค่าให้แก่ประชากรกลุ่มใหม่ที่เพิ่มขึ้นนี้

q  แนวโน้มเศรษฐกิจ ที่ชี้ถึงความสำเร็จระดับมหภาค แต่สร้างปัญหาการกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำทางสังคม      และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในภาคเกษตรอันเป็นรากฐานของสังคมมาแต่เดิม และยังคงเป็นภาคที่คน     ส่วนใหญ่ของประเทศยังคงใช้ชีวิตดิ้นรนต่อสู้อยู่อย่างน่าเห็นใจที่สุด ซึ่งหากไม่รีบทบทวนแก้ไขย่อมจะนำมาซึ่งภาระ    ทางสังคมต่อไปในอนาคต

q  แนวโน้มสังคมวัฒนธรรม ที่ชี้ว่ากระแสวัฒนธรรมใหม่ที่มากับสื่อสารสนเทศและสื่อบันเทิงต่างๆ จากนอกประเทศ        กำลังค่อยๆ เข้าแทนที่เอกลักษณ์และคุณค่าแบบดั้งเดิมของสังคมไทย นับตั้งแต่อุปนิสัยแบบไทย ค่านิยมเรื่อง   ศาสนา ค่านิยมทางเพศ การเห็นคุณค่าในศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของไทยและการดำรงตนอย่างกลมกลืน      กับธรรมชาติ ปัจจุบันกระแสวัฒนธรรมใหม่ดังกล่าว ยังไหลบ่า จากประเทศไทยซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจบันเทิง   ของภูมิภาคไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย  นอกจากนี้ แรงกดดันทางเศรษฐกิจ ยังนำมาซึ่งปัญหาสังคมอีกหลาย  เรื่อง เช่นปัญหามนุษยสัมพันธ์และความเอื้ออาทรระหว่างสมาชิกร่วมสังคม ปัญหาครอบครัวเดี่ยวและครอบครัว  

      หย่าร้าง ปัญหาคุณภาพชีวิตของเด็กและสตรี เป็นต้น

q  แนวโน้มการเมือง ชี้ถึงการเคารพกติกาประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็มีระบบอุปถัมภ์จากผู้มีอิทธิพลภาย     ใต้โครงสร้างอำนาจทางการเมืงที่สลับซับซ้อน โดยมีกลุ่มพลังทางการเมืองที่หลากหลายขึ้น

q  แนวโน้มของระบบราชการบ่งบอกถึงปัญหาที่ระบบราชการไม่สามารถดึงดูด คนดี-คนเก่งเข้าสู่ระบบได้อีกต่อไป     ภาพรวมของระบบราชการจึงมีพลังในการสร้างสรรค์และพัฒนาน้อยลง  นอกจากนี้ กระแสวัตถุนิยมในสังคมและ       แรงกดดันทางเศรษฐกิจก็กำลังค่อยๆ กัดกร่อนอุดมคติดั้งเดิมของข้าราชการที่เน้นการอุทิศตัวเสียสละด้วยความ สัตย์ซื่อต่อแผ่นดินให้อ่อนแอลงเป็นลำดับ

q  แนวโน้มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แสดงว่าอิทธิพลของเทคโนโลยีสารสนเทศได้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ทุกสาขา      การผลิต การบริการและการเรียนรู้ของประเทศ  แต่เป็นไปในอัตราที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในการรับ        ปรับแปลงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยี

q  แนวโน้มสภาพสิ่งแวดล้อมระบุถึงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่า อย่างรุนแรงและรวดเร็วจนเข้าถึงขีด    ภาวะวิกฤต เพราะขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมดูแลการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม

 

ความหวังและทางเลือกของแผ่นดินไทย

               ปัญหาและแนวโน้มเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ต้องขบคิดพิจารณาไปพร้อมกับการพิจารณากระแสโลกาภิวัตน์ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอในการพัฒนาที่จะช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยเราเอง พร้อมๆ ไปกับการรับมือต่อปัญหาใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข้อเสนอการพัฒนาไปสู่อนาคตยังไม่ชัดเจนและมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาอีกมาก แต่กระบวนทัศน์หรือแนวคิดอย่างเป็นระบบ ในการมองทิศทางการพัฒนาของไทยในอนาคตน่าจะมีความชัดเจนพอสมควร ได้แก่

q  กระแสโลกาภิวัตน์โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ คงเป็นแรงผลักดันให้ไทยต้องเคลื่อนไหวและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา       ประเทศไทยจะไม่สามารถหยุดนิ่งได้ในท่ามกลางภาวะการแข่งขันและการแสวงหาข้อได้เปรียบทางการค้าในตลาด      โลก     โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาตามแนวทุนนิยมอย่างเร่งด่วนของประเทศเพื่อนบ้าน จะเพิ่มแรงกดดันให้ ไทยต้องเร่ง       สร้างความได้เปรียบในด้านปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะด้านทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี เพื่อรองรับ        อุตสาหกรรม     การผลิตและการบริการยุคใหม่ที่มีความสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกสูงขึ้น

q  ในขณะเดียวกัน ทิศทางการพัฒนาประเทศ ต้องเน้นการร่วมมือและแข่งขันทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับความจีรัง        ยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม  ทั้งนี้ การพัฒนาประเทศให้เกิดดุลยภาพของรายได้ประชากรมากขึ้นก็ดี การสร้าง   ดุลยภาพระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมก็ดี จะเกิดขึ้นและ ดำรงอยู่ไม่ได้  ถ้าไม่สร้างขีดความสามารถอย่างพอเพียงของสังคมไทย ทั้งในการร่วมมือและแข่งขันกัน

q  สังคมไทยที่จะดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้ในประชาคมโลก พึงมีความพอดีระหว่าง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกับคุณค่าทาง    สังคมสังคมไทยต้องกอปรด้วย คนดีที่ทันโลก ปัญหาปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นความอ่อนแอล้าหลังของสังคมชนบท และภาคการเกษตรแบบดั้งเดิม ภาวะวิกฤตของสถาบันครอบครัว คุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนปัญหาสิ่ง         แวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติล้วนชี้ชัดว่า กุศโลบายการพัฒนาประเทศในอนาคตจะเน้นแต่ความมั่นคงและ ประสิทธิภาพของเศรษฐกิจแต่ฝ่ายเดียวมิได้แต่ต้องเน้นให้ คนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น ชุมชน เข้มแข็ง สังคม    สันติ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน  นอกจากนี้ คนไทยในอนาคตพึงมีโลกทัศน์ข้ามวัฒนธรรมและโลกทัศน์สากล เพื่อการ        ปรับตัวและการอยู่ร่วมกับชนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมได้อย่างสันติ และสามารถร่วมมือกันทำงานต่างๆ         เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อประชาคมโลกได้อย่างแท้จริง

q  นอกจากนั้นแล้วสังคมไทยในอนาคตพึงเป็นสังคมที่มีการรักษาให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคง ปัจจุบันสังคมไทยมี        วิกฤตการณ์ทางคุณค่า  และ  วิกฤตการณ์ทางปัญญา  อันเนื่องจากสาเหตุต่างๆ ได้แก่ การเบี่ยงเบนค่านิยม แบบไทยไปตามกระแสสังคมโลก ความไม่ยืดหยุ่นผ่อนปรนกันระหว่างกลุ่มคนต่างค่านิยม และต่างอุดมการณ์อันเป็นชนวนความขัดแย้งในสังคม ตลอดจนความสับสนเนื่องจากคุณค่าในอุดมคติมีลักษณะตรงข้ามกับความเป็นจริงใน          สังคมคนทำผิดกลับได้รับการยกย่อง  และ  คนดีกลับได้รับการลงโทษจากระบบ  สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็น  วิกฤตการณ์ของสังคมไทยที่จะต้องรีบบรรเทาและขจัดไปในที่สุด เพื่อให้สังคมไทยมีสันติสุขและจีรังยั่งยืนในอนาคต

               รากฐานสำคัญของการพัฒนาไปในทิศทางดังกล่าวคือการเสริมสร้างขีดความสามารถ ศักยภาพและความเข้มแข็งในระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชนเป็นพื้นฐาน สังคมไทยในอนาคตพึงเป็นสังคมที่ประกอบด้วยชุมชนเมืองและชุมชนชนบทที่ประชาชนมีความสามารถในการไตร่ตรอง แก้ปัญหา และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการรู้เท่าทันในความสัมพันธ์กับสังคมภายนอกทั้งในระดับชาติและนานาชาติ รากฐานดังกล่าวนี้เป็นสภาพพึงประสงค์ที่มีนัยสำคัญทั้งในเชิงประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงตลอดจนการสืบสารเยื่อใยทางสังคมและวัฒนธรรม

               บุคคลที่เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทยในอนาคต พึงมีชีวิตที่มั่นคง สันติ และสืบทอดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนได้ในชุมชนบ้านเกิดของตนเอง มิต้องทิ้งถิ่นฐานร่อนเร่ไปเผชิญโชคในเมืองใหญ่และในต่างประเทศอย่างที่เป็นมาในอดีต จากเป้าหมายดังกล่าว สังคมไทยพึงมีการกระจายอำนาจการปกครอง และการกระจายกิจกรรมการผลิตทางเศรษฐกิจไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน มีการเรียนรู้ วิจัย สร้างสรรค์ปัญญา พึงมีเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้และความคิดระหว่างสมาชิกในสังคม  เพื่อใช้ชุมชนมีส่วนในการตัดสินใจ ริเริ่มและดำเนินการต่างๆ ในชุมชนด้วยตนเองอย่างจริงจัง อันจะส่งผลดีต่อความเข้มแข็งและศักยภาพของชุมชนและประเทศ เกิดผลต่อการพัฒนาตนเองในระยะยาว

               ประเด็นที่ต้องพิจารณาในเรื่องวิสัยทัศน์ของการศึกษาไทยในอนาคต รวมไปถึงแนวทางการนำไปสู่การปฏิบัติต่าง ๆ คงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในรายละเอียดต่อไปอีกมาก นับตั้งแต่ประเด็นเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษา กลุ่มเป้าหมายของการศึกษา  รูปแบบและวิธีการให้การศึกษาแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ต่าง ๆ ตลอดจนรูปแบบการบริหารและการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษา ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเกิดผลโดยสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้มีการพิจารณาวิสัยทัศน์ของ  กระแสโลกาภิวัตน์  และ  สภาพสังคมไทยในบริบทโลก  และภาพการศึกษาไทยที่จะโน้มนำสังคมไปสู่สภาพพึงประสงค์นั้น  อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันที่ปรากฎ และแนวโน้มแรงผลักดันจากกระแสโลกที่มองเห็นได้ชัดเจนในบางประเด็น ก็ได้ช่วยให้สามารถกำหนดวิสัยทัศน์ของการศึกษาไทยในอนาคตที่สำคัญได้หลายเรื่อง

               การศึกษาที่จะเอื้อต่อสภาพสังคมไทยในอนาคตที่มีความก้าวหน้ามั่นคงและความเสมอภาค     ต้องเป็นการศึกษาที่มุ่งพัฒนาตัวบุคคล ครอบครัว และการผนึกกำลังกันเป็นชุมชนเป็นสำคัญ โดยเน้นให้ระบบการศึกษาไทยในอนาคตเป็นระบบที่สามารถเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ของบุคคล  ครอบครัวและชุมชน ส่งเสริมให้บุคคลมีความเข้าใจและทักษะเกี่ยวกับ  กระบวนการเรียนรู้เพื่อศึกษาและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ปรับตัวได้กับสภาวะโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และสามารถรับข่าวสารใหม่ ๆ แล้วนำมาคิดและตัดสินใจ รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนสามารถผนึกกำลังเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพปัญหาไปสู่สภาพที่พึงประสงค์

               ปรัชญาการศึกษาในอนาคตพึงถือว่า  ชีวิตที่มีความสุขคือชีวิตที่มีการเรียนรู้  เป้าหมายของการศึกษาจึงต้องมุ่งสร้าง คนที่มีความมั่นใจ และเป็นตัวของตัวเองใฝ่การศึกษาที่  สนองปัญญามากกว่าตัณหา และมุ่งพัฒนา วุฒิของความเป็นมนุษย์ ที่วัดไม่ได้ด้วยวุฒิบัตร  เพื่อส่งเสริมอิสรภาพของปัจเจกบุคคล ส่งเสริมให้คนมีคุณธรรมต่อกัน  ต้านกระแสวัตถุนิยมและบริโภคนิยม นับถือกันเพราะเงินและฐานะ  ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่พึงปรารถนาในสังคม  นอกจากนี้ ปรัชญาการศึกษาพึงเน้นการพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้  สร้าง  มากกว่า  เสพ  ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและความเท่าเทียมทางสังคม

               ปรัชญาการศึกษาในอนาคตที่มุ่งพัฒนาความเป็นมนุษย์พึงเน้นให้สุนทรียศึกษาและพลศึกษามีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น  เพื่อปรับสภาพสังคมที่คับแค้นเพราะการแข่งขันช่วงชิง เพราะกิจกรรมการศึกษาทั้งสองด้านดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความสมดุลในการพัฒนาคนได้ดียิ่งขึ้น

               รูปแบบการจัดการศึกษาในอนาคต พึงเป็นการศึกษาที่ให้อิสระแก่ผู้เรียนให้ทางออกและทางเลือกที่ดีแก่ทุกคน  นอกจากนี้ การศึกษาต้องเป็นปัจจัยในการช่วยให้คนรักและสามารถอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างพึงพอใจ การศึกษาพึงต้องช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำงาน มีเสรีภาพและความรับผิดชอบในหน้าที่ และใช้ชีวิตในชุมชนของตนได้ โดยนัยต่าง ๆ เหล่านี้ รูปแบบการศึกษาในอนาคตจึงต้องมีความหลากหลายเพื่อสนองความต้องการและลักษณะที่แตกต่างกันของบุคคลและชุมชน ทั้งนี้  เมื่อผู้เรียนมีทางเลือกมากขึ้นก็ต้องเน้นให้ผู้เรียนรู้จักใช้วิจารณญาณในการเลือกอย่างเหมาะสมด้วย  วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์  จึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของกระบวนการศึกษาในอนาคต

 

               การศึกษาในอนาคตควรสะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพของ  เครือข่ายการเรียนรู้  ที่มีการประสานสัมพันธ์กัน และใช้ความหลากหลายขององค์กรที่เกี่ยวข้องให้เป็นประโยชน์อาทิ  โรงเรียน ครอบครัว ชุมชน สื่อมวลชน องค์กรศาสนา ภาคเอกชน องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์   และองค์กรเฉพาะกิจอื่น ๆ ควรมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายข้อมูลจากทั่วโลกมาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้ เพื่อช่วยกันจัดการศึกษาสนองกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย  ทั้งการศึกษาต่อเนื่องในระบบปกติที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กยิ่งขึ้น การศึกษาและฝึกอบรมระยะสั้น ตลอดจนการฝึกอบรมในสถานที่ทำงานเพื่อพัฒนา  แรงงานที่ผลิตเป็น  ให้แก่ภาคการผลิตต่าง ๆ ที่ต้องมีการปรับตัวและแข่งขันอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการศึกษาที่มาจากฐานครอบครัวและชุมชน  เพื่อสร้างความมั่นใจและการเคารพซึ่งกันและกันในสังคมเพื่อสร้างความภูมิใจ ความมีศักดิ์ศรีและความสามารถพึ่งตนเองได้

 

เพื่อดุลยภาพใหม่ของสังคมในอนาคต

               การศึกษาไทยในอนาคตพึงมีส่วนสำคัญในการช่วยรักษาวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานของสังคมไทย การศึกษาต้อง  ช่วยสร้างสมดุลระหว่างภาคเศรษฐกิจที่ทันสมัยกับคุณค่าแบบไทย  ที่เน้นค่านิยมและจริยธรรมตามแนวพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่แต่ละคนนับถือ   อาทิ  ความโอบอ้อมอารี ความซื่อสัตย์สุจริต การกินพอดีอยู่พอดีที่กลมกลืนไปกับธรรมชาติ  ความปรองดองในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ เป็นต้น  พร้อมกันนั้น ต้องเน้นให้การศึกษามีบทบาทในการเสริมสร้างให้คนไทยมีวินัยในตนเอง มีความรับผิดชอบ มีความอดทน อดออม  มุมานะ ทำงานด้วยขันติธรรมมากกว่าการมักง่าย เรียนลัด หวังความสำเร็จในชีวิตด้วยการเสี่ยงโชคหรือเก็งกำไรระยะสั้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน การศึกษา ต้องกระตุ้นและเน้นให้คนยึดมั่นในหลักธรรมที่เชื่อในการกระทำความดีมากกว่าการหวังให้อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ช่วยดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ ให้ชีวิต

               การศึกษาพึงเป็นสื่อให้คนไทยเข้าถึงแก่นวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชนชาติอื่นด้วย  เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความสามารถในการร่วมมือและแข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ได้  การเรียนรู้ความเป็นไทยและความเป็นสากลต้องสัมพันธ์กัน เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้กับประชาคมโลกและธรรมชาติ

               ประการสำคัญคือ การศึกษาที่จะเสริมสร้างความมั่นคงและก้าวหน้าให้แก่ประเทศได้นั้น ต้องเป็นการศึกษาที่มี  ความพอดี  ในการผสมผสาน  คุณลักษณ์ต่างขั้ว  หลายเรื่องที่จำเป็นต้องมีควบคู่กันไปอย่างเหมาะเจาะกลมกลืนในทรัพยากรบุคคลของประเทศ อาทิ

               p    ความพอดีระหว่างการเป็นผู้นำกับการเป็นผู้ตาม

               p    ความพอดีระหว่างความสามารถในการทำงานเป็นหมู่คณะ

                       กับความสามารถในการดำรงตนในฐานะปัจเจกบุคคล

               p    ความพอดีระหว่างเสรีภาพกับความรับผิดชอบ

               p    ความพอดีระหว่างความสามารถแข่งขันกับความสมถะ รู้จักพอ รู้จักร่วมมือ

               p    ความพอดีระหว่างการเห็นความสำคัญและประโยชน์ในวิทยาการสมัยใหม่ กับความชื่น                            ชมในภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม

               p    ความพอดีระหว่างการเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติ  กับการอนุรักษ์วัฒนธรรมและ                                         เอกลักษณ์ไทย

               p    ความพอดีระหว่างการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการงานและฐานะกับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง                          และเพื่อ  ความปิติแห่งการเรียนรู้

               p    ความพอดีระหว่างการเพิ่มพูนทักษะความสามารถเฉพาะทางกับการเพิ่มพูนสุนทรียภาพ                           และความรอบรู้ในภาพรวม

               p    ความพอดีระหว่างการเรียนรู้ผ่านสื่อและเทคโนโลยีต่าง ๆ กับการเรียนรู้ด้วยกระบวน                    การ  มนุษย์สัมผัสมนุษย์  และ  มนุษย์สัมผัสธรรมชาติ

               p    ความพอดีระหว่างการจัดประมวลสาระความรู้ทางมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์และวิทยา                                 ศาสตร์

                             ความพอดีเหล่านี้ จะเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการการศึกษาที่มีดุลยภาพ                และช่วยเสริมสร้างทั้งความเจริญทางวัตถุและความเจริญทางจิตใจให้แก่สังคมไทยไปในเวลาเดียวกัน

เรียบเรียงจากบางตอนใน  :คณะศึกษาโครงการการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์.  การศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์ : สู่ความก้าวหน้าและความมั่นคงของชาติในศตวรรษหน้า.  เอกสารประกอบการสัมมนาระดับชาติเรื่อง  ยุทธศาสตร์การศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์  ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  

 



ผู้เขียน : khunsuphot
หน่วยงาน : สพป.สป.2
พฤหัสบดี ที่ 21 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2555
เข้าชม : 29877
4 stars เฉลี่ย : 4 จาก 14 ครั้ง.


วิชาการ 5 อันดับล่าสุด

      ประเทศไทยได้อะไรบ้างจากสมาคมอาเซี่ยน 22 / ต.ค. / 2555
      ความรู้เกี่ยวกับระบบ 3G 22 / ต.ค. / 2555
      คู่มือการประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้มีวิทยฐานะและหรือเลื่อนวิทยฐานะสายงานการบริหารการศึกษา (ว.17) 18 / ต.ค. / 2555
      ความดันโลหิตสูงสาเหตุเกิดจากอะไร 18 / ต.ค. / 2555
      ภาษาไทยวันคะมำ 26 / ก.ค. / 2555


เชิญร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์จัดการความรู้
สิทธิของสมาชิก สามารถบันทึกขุมความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดาวน์โหลดได้
คลิกที่นี่สมัครสมาชิก