[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by KMOBECMAXSITE 1.2.1
    


วิชาการ
เรื่อง : ผลจากภัยพิบัติ
บทความ



 

 ผลจากภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นกับการเตรีมตัวรับมือของประเทศไทย
 
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้เกิดภัยพิบัติอยู่มากมายหลายครั้งที่ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของมวลมนุษยชาติทั้งที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์เองหรือภัยจากธรรมชาติก็ตาม เช่น เหตุการณ์ตึก World Trade Center ถล่ม เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 เหตุการณ์สึนามิบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ในช่วงปลายปี 2547 หรือเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศจีนเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเฮติ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสูญเสียอย่างมากมายทั้งในประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเกิดภัยพิบัติ และระบบเศรษฐกิจทั่วโลกหนึ่งในแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในประวัติการณ์ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ที่เกิดขึ้นทางตะวันออกของเกาะฮอนชู ห่างออกไปประมาณ 130 กิโลเมตร ด้วยความรุนแรงประมาณ 9.0 ริกเตอร์(ข้อมูลจากสำนักข่าว Reuterและ AP)ทำให้เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิพัดเข้าถล่มชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นที่จังหวัดฟูกูชิมะ และจังหวัดมิยางิ โดยเฉพาะที่จังหวัดมิยางิได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงเกิดความเสียหายทั้งอาคารบ้านพักอาศัย โรงงานตสาหกรรม จากข้อมูล ณ วันที่ 16 มีนาคม 2554 ได้พบผู้เสียชีวิตที่เมืองมิยากิกว่า 2,000 ศพ และมีผู้สูญหายกว่า 10,000 คน ซึ่งนับเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรในเมืองนี้(ข้อมูลจากเวบไซต์ครอบครัวข่าวช่อง 3 ) และที่สำคัญคือความเสียหายที่โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่เกิดความเสียหายอย่างมากซึ่งระบบหล่อเย็นภายในเตาปฏิกรณ์ปรมาณูได้เกิดระเบิดขึ้น ทำให้ต้องอพยพผู้คนจำนวนนับแสนออกจากพื้นที่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินให้กับประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย เนื่องจากเมืองมิยางิมีโรงงานอุตสาหกรรมสำคัญหลายประเภทเช่นโรงงานเคมี โรงงานอิเลคทรอนิกส์ ฯลฯ โดยการประเมินเบื้องต้นพบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้น่าจะทำให้ผลผลิตมวลรวม (GDP) ของประเทศของญี่ปุ่นลดลงประมาณ 1.7 - 2.0 % (ข้อมูลจากศูนย์วิจัย Mcquarie)และจากบทวิเคราะห์ของบริษัทวิเคราะห์ความเสี่ยงของในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประเมินว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจน่าจะอยู่ระหว่าง 14,500 – 34,600 ล้านดอลลาร์(ข้อมูลจากเวบไซต์ผู้จัดการ)สำหรับประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความพร้อมเรื่องการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติขั้นรุนแรงและสถานการณ์ฉุกเฉินที่ดีที่สุดประเทศหนึ่ง อันเนื่องจากญี่ปุ่นมักประสบกับภัยพิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากลมพายุ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว หรือแม้แต่คลื่นยักษ์สึนามิก็ตาม ส่งผลประเทศญี่ปุ่นมีการเตรียมความพร้อมไว้อย่างเป็นระบบทั้งการให้ความรู้กับประชาชนถึงความรุนแรงของภัยพิบัติและแนวทางการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุการณ์ หรือในเรื่องของอุปกรณ์การเตือนภัยที่มีความสมบูรณ์และได้มาตรฐานที่ดีการจัดทำแผนการซ้อมอพยพหนีภัยซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศญี่ปุ่นจะมีการดำเนินการซ้อมอพยพอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นในเรื่องของการเตรียมความพร้อมในเรื่องของการสร้างที่พักอาศัย และอาคารสาธารณูปโภคต่างจะมีข้อกำหนดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดทั้งในเรื่องของข้อกำหนดในการออกแบบที่จะต้องคำนึงถึงการออกแบบให้โครงสร้างมีความสามารถในการต้านทานแรงต่างๆ ที่จะกระทำกับโครงสร้างได้ในระดับที่ยอมรับได้ หรือการเลือกใช้วัสดุที่จะนำมาใช้ในโครงสร้างต่าง ๆก็เช่นกัน จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดเพื่อป้องกันหรือหน่วงเวลาเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยลงหรือช้าลงเพื่อให้สามารถอพยพคนไปสู่ที่ปลอดภัยได้ เช่นการใช้งานโครงสร้างเหล็กในประเทศญี่ปุ่นเนื่องจากปัจจัยหลาย ประการ ทั้งคุณสมบัติเชิงกลของเหล็กที่มีความเหนียวสูงถ้าออกแบบและทำรายละเอียดการก่อสร้างให้ดีแล้วก็สามารถต้านทานกับแรงสั่นไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าโครงสร้างประเภทอื่นการประกอบและขึ้นรูปโครงสร้างเหล็กทำได้โดยง่ายสามารถขึ้นรูปมาจากโรงงานและมาประกอบติดตั้งที่หน้างานก่อสร้างได้อันส่งผลให้ประหยัดเวลาในการก่อสร้างและประหยัดค่าแรงงานก่อสร้างในประเทศญี่ปุ่นที่มีอัตราสูง   จุดเด่นของโครงสร้างเหล็กที่สำคัญก็คือเหล็กจะทำให้โครงสร้างโดยรวมของอาคารที่พักอาศัยและสาธารณูปโภคต่างมีน้ำหนักเบา อันส่งผลให้ผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นนั้นมีน้อยกว่า และด้วยความเหนียวของเหล็กที่ไม่ทำให้โครงสร้างเหล็กเกิดการวิบัติแบบฉับพลันทันทีเมื่อเกิดการสั่นไหลด้วยแล้วนั้นทำให้สามารถอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขั้นรุนแรงได้อีกทั้งการที่ประเทศญี่ปุ่นสามารถผลิตเหล็กใช้ภายในประเทศได้เองทำให้วัสดุประเภทนี้มีความคุ้มค่าในการก่อสร้างเมื่อเทียบกับระบบการก่อสร้างที่ใช้วัสดุประเภทอื่นและสามารถควบคุมคุณภาพตามที่ต้องการได้ทำให้ผู้ออกแบบสามารถเลือกใช้ได้อย่างหลากหลายอีกด้วย
การเตรียมตัวที่พร้อมก็เป็นการลดความสูญเสียจากภัยที่เกิดขึ้นในระดับหนึ่ง แม้ว่าความสูญเสียก็ยังคงเกิดขึ้นได้อยู่ก็ตามดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้กับหลายประเทศที่มีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ เช่นเดียวกับประเทศไทยในหลายๆ พื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศก็จัดอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยจากแผ่นดินไหวหรือในเขตพื้นที่ภาคใต้ของประเทศที่อยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงต่อเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิซึ่งหน่วยงานทางภาครัฐก็ควรต้องดำเนินการวางแผนและจัดการเตรียมความพร้อมรับมือต่อเหตุภัยพิบัติขั้นรุนแรงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าการเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญทั้งการเตรียมความพร้อมของตัวบุคคลโดยเฉพาะคนในพื้นที่เสี่ยงหรือนักท่องเที่ยวก็ควรจะเห็นความสำคัญของมาตรการต่าง ๆพร้อมทั้งควรต้องศึกษาข้อปฏิบัติให้เข้าใจ นอกจากนี้ยังควรมีการติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัยประเภทต่างๆ ให้ครอบคลุมทั่วถึงในทุกพื้นที่ตลอดจนมีการกำหนดมาตรการตรวจสอบความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ตลอดจนการจัดทำแผนการซ้อมอพยพหนีภัยและ ดำเนินการซักซ้อมอย่างสม่ำเสมอนอกจากนี้ควรมีการตรวจสอบโครงสร้างอาคารต่าง ๆว่ามีมาตรฐานตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของการใช้อาคารหรือไม่ โดยทั้งนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองก็ได้มีการจัดทำมาตรฐานการออกแบบอาคารซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงจากแผ่นดินไหว (ตามมาตรฐานประกอบการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวมยผ.1301-50และมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว มยผ.1302) ซึ่งสอดคล้องกับข้อบังคับตามกฏกระทรวงฉบับที่ 49 ( 2550 ) สำหรับประเทศไทยผลกระทบที่อาจจะเกิดกับระบบเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ภัยพิบัติจากประเทศข้างเคียงก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของตลาดโลก แต่ถ้าจะพิจารณาให้ลึกขึ้นก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีว่าประเทศดังกล่าวเป็นประเทศคู่ค้ากับไทยในสินค้าประเภทใด มากน้อยเพียงใด อย่างกรณีของประเทศญี่ปุ่น ได้ถูกประเมินจากผู้เชี่ยวชาญในระบบเศรษฐกิจของประเทศว่าน่าจะส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่มากนัก คือน่าจะกระทบกับผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ประมาณ 0.1-0.2 % (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
 


ผู้เขียน : khunsuphot
หน่วยงาน : สพป.สป.2
จันทร์ ที่ 11 เดือน เมษายน พ.ศ.2554
เข้าชม : 2240
4.5 stars เฉลี่ย : 4.5 จาก 10 ครั้ง.


วิชาการ 5 อันดับล่าสุด

      ประเทศไทยได้อะไรบ้างจากสมาคมอาเซี่ยน 22 / ต.ค. / 2555
      ความรู้เกี่ยวกับระบบ 3G 22 / ต.ค. / 2555
      คู่มือการประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้มีวิทยฐานะและหรือเลื่อนวิทยฐานะสายงานการบริหารการศึกษา (ว.17) 18 / ต.ค. / 2555
      ความดันโลหิตสูงสาเหตุเกิดจากอะไร 18 / ต.ค. / 2555
      ภาษาไทยวันคะมำ 26 / ก.ค. / 2555


เชิญร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์จัดการความรู้
สิทธิของสมาชิก สามารถบันทึกขุมความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดาวน์โหลดได้
คลิกที่นี่สมัครสมาชิก