[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by KMOBECMAXSITE 1.2.1
    


วิชาการ
เรื่อง : คุณธรรมที่กำลังมองหา
บทความ



 

ได้อ่านบทความของ รศ.วิไล  ตั้งสมจิตสมคิด แล้วเห็นว่ามีประโยชน์เลยอยากแบ่งปันให้เพื่อน ๆได้รู้บ้าง
คุณธรรมที่กำลังมองหา

อดีตที่ผ่านมาเราจะให้ความสำคัญกับ I.Q. (Intelligence Quotient) คือระดับเชาวน์ปัญญา ซึ่งเป็น
เรื่องของความสามารถของสมอง โดยทั่วไปคนปกติจะอยู่ระหว่าง 90 – 110 หากต่ำกว่า 70 จะอยู่
ในเกณฑ์ปัญญาอ่อน แต่ถ้าตั้งแต่ 110 ขึ้นไปถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปัญญาดี แต่ในปัจจุบันนี้จะไม่เน้นแต่เฉพาะ I.Q. เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญของ E.Q. (Emotion Quotient) เป็นความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มพูนได้จากการเลี้ยงดู การฝึกฝนทุกช่วงชีวิต คนที่มี E.Q. ไม่ดีหรือต่ำจะไม่เข้าใจตนเอง ไม่เข้าใจคนอื่น และไม่ยอมรับความจริง ตลอดจนไม่สามารถแก้ไข
ความขัดแย้งในใจตนเองได้ อาการของคนเหล่านี้จะเป็นนานกว่าคนปกติ ซึ่งจะพบว่าคนเก่ง ๆ
แต่ประสบกับความล้มเหลวในชีวิตก็มีมากทีเดียวหาก E.Q. ต่ำ หลายคนคงจะสงสัยแล้วว่า E.Q. ต่ำนั้นเกิดขึ้นตอนไหน หากจะพิจารณาตั้งแต่แรกคลอดแล้ว จะเห็นว่าการเลี้ยงดูในวัยทารกจะส่งผลกระทบต่อ E.Q. มาก ซึ่งกว่าจะเติบโตจนเป็นผู้ใหญ่ ต้องใช้เวลายาวนาน โดยเฉพาะวัยทารกและวัยเด็กที่ต้องอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองและคนเลี้ยง หากจะพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบว่าคนที่มี I.Q. ดีหรือสูงแต่ล้มเหลวในชีวิตนั้นจะได้รับแรงกดดันจากครอบครัวมาตั้งแต่เล็ก ๆ ไม่ว่าจะขาดความรัก ความอบอุ่นก็ตามหรือแม้แต่การให้จนล้นเกินไปจนเด็กไม่รู้จักตนเอง จนขาดวินัยในตนเองหรือแม้แต่ขาดความรับผิดชอบในตนเอง ต้องคอยให้ผู้อื่นดูแลให้ตลอดเวลา จนสะสมหรือพอกพูนเป็นปมด้อยที่อยู่ในใจของตนเอง โดยไม่รู้ตัว ในที่สุดก็จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสมและควบคุมอารมณ์ตัวเองหรือยอมรับในอารมณ์ของผู้อื่นได้ สิ่งที่ต้องการคือความต้องการของตนเองเป็นใหญ่ ในที่สุดก็นำไปสู่ชีวิตที่ล้มเหลว ซึ่งในยุคนี้เศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้สภาพการตกงานมีมาก หลายคนเกิดขวัญเสียและเสียกำลังใจ บางคนไม่สามารถรับกับสภาพเหล่านี้ได้ก็ใช้วิธีการจบชีวิตของตนเอง ทั้งนี้คนเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยที่มีการศึกษาดีเป็นผู้บริหารก็ไม่น้อย บางคนถึงกับมองโลกในแง่ร้ายก็มีเช่นกัน ดังนั้นการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง (พ่อแม่) คนเลี้ยง ตลอดจนครู อาจารย์ จำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ประกอบกับ I.Q. ด้วย ก่อนที่จะสายเกินแก้ วิธีที่จะช่วยให้เด็กมี E.Q. ที่ดีนั้นทุกคนควรจะมีส่วนร่วมมือกันคือ การสร้างให้เด็กรู้จักตนเอง รู้จักจุดเด่นจุดด้อยของตนเองก่อนและให้ยอมรับสภาพความจริงของชีวิตที่เป็นอยู่ ซึ่งทุกคนมีโอกาสเท่ากันที่จะเดินไปข้างหน้า การฉวยหาความก้าวหน้าของชีวิตที่ได้มาด้วยความสุจริต ความพยายามที่ไม่ยอมแพ้ต่อสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ สิ่งเหล่านี้ต้องสร้างให้เด็กเกิดในตนเองให้ได้ การยอมรับสิ่งที่ดีและไม่ดี ทุกคนมีอารมณ์ต่อสิ่งดีและไม่ดี จะดีใจเมื่อได้รับสิ่งดี และจะเสียใจเมื่อได้รับสิ่งที่ไม่ดี ทำอย่างไรจะให้เขารู้จักอารมณ์เหล่านี้ไปพร้อม ๆ กัน ไม่เก็บกดหรือแสดงออกมากจนเกิน นั่นคือทำอย่างไรจะควบคุมอารมณ์เหล่านั้นได้นั่นเอง การที่จะทำให้มีกำลังใจและเข้าใจจิตใจผู้อื่น สิ่งเหล่านี้เกิดได้จากคนที่อยู่รอบด้าน จะเข้าใจและเสริมกำลังใจพร้อมกับเติมเต็มความเข้าใจในจิตใจของผู้อื่นด้วย เราคิดอย่างไรเขาก็คิดอย่างนั้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ต่อเมื่อผู้ปกครองและคนเลี้ยงจะเข้าใจและคอยเติมเต็มให้กับตัวเด็กเท่านั้น การตำหนิอย่างรุนแรงควรละเว้นแต่จะใช้วิธีการเตือนสติการพูดจากันดี ๆ อย่างมีเหตุมีผล และอบอุ่นภายในบ้าน บรรยากาศแห่งความเป็นอิสระ ไม่ว่าใครก็ตามมักจะเรียกหาความเป็นอิสระกันทุกคน แม้ว่าจะเป็นช่วงหนึ่งหรือขณะเดียวก็พอใจแล้ว ดังนั้นควรมีการผ่อนตามความเหมาะสม ไม่มากเกินไป และสิ่งที่เราเรียกหาอีกอย่างก็คือความอบอุ่นภายในบ้าน ซึ่งทุกคนต้องการอย่างมากเพราะบ้านคือที่ ๆ เราสามารถจะอยู่ได้อย่างอบอุ่น และสุขใจ ดังที่กล่าวว่า “บ้านคือวิมานของเรา” สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากทุกฝ่ายไม่ช่วยกันทะนุถนอมให้เกิดขึ้น แล้วที่ไหนจะดีกว่าที่บ้านของตน ก็คงจะไม่มีอีกแล้ว สรุปได้ว่า E.Q. คือ การเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น (Empathy) และการควบคุม ตนเอง (Self Control) นั่นเอง แต่ในปัจจุบันนี้ใช่แต่จะมี I.Q. และ E.Q. เพียงเท่านั้น แต่ยังได้มีการกล่าวถึง M.Q. (Moral Quotient) อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งหลายคนจะสงสัยว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร หากจะพูดถึง M.Q. แล้วจะขอยกตัวอย่างเพียงเพื่อมองให้เห็นชัดเจนขึ้น เช่น เด็กอาจจะมีสติปัญญาดี เฉลียวฉลาด มีอารมณ์ดี สังคมดี แต่มีคุณธรรมต่ำ (ณ ที่นี้หมายถึงความเห็นแก่ตัว) บางคนอาจจะคิดว่าเป็นไปได้หรือ สิ่งที่พบมากในขณะนี้ก็คือ คุณธรรมที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัว ที่ยังไม่พัฒนาตามวัตถุที่เจริญมากในปัจจุบันนี้ ยิ่งในยุคโลกไร้พรมแดน ยุคข้อมูลข่าวสารด้วยแล้ว ทำให้มนุษย์เราเริ่มเห็นแก่ตัวมากยิ่งขึ้น ขาดคุณธรรม ไร้มโนธรรมมากขึ้น อีกทั้งยังไม่รู้ว่าควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร จึงจะมีความสุขที่แท้จริง อะไรเป็นสิ่งที่สำคัญต่อชีวิต บางคนมี I.Q. สูง E.Q. ดี แต่ M.Q. ต่ำ ทำให้ก้าวร้าวและทำร้ายผู้อื่นได้ โดยไม่รู้สึกอะไร หากจะพิจารณาว่า M.Q. นั้นเกิดขึ้นหรือฝังรากลึกอยู่ในจิตใจได้ตอนไหน อันที่จริง M.Q. จะซึมซับรับจากพ่อแม่ และคนรอบข้างใกล้ชิดก่อน โดยเริ่มตั้งแต่เด็ก ๆ เช่น พ่อแม่ หรือผู้ใกล้ชิดมาก ๆ หากพูดคุยกับเด็กเพียง 10 ครั้ง แต่ตำหนิหรือด่าว่าอย่างรุนแรง เพียง 1 – 2 ครั้งก็จะทำให้เกิดผลในทางไม่ดีต่อเด็กเป็นการทำร้ายจิตใจเด็ก ทำให้ฝังแน่นในใจและจะปรากฏความก้าวร้าวทางพฤติกรรมของเด็กในที่สุด แล้วจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิด M.Q. ต่ำได้ สิ่งที่จะกล่าวในที่นี้ที่สำคัญที่สุดคือ รากฐานหรือพื้นฐานทางครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพ่อแม่ รองลงมาคือ ครู อาจารย์ และที่สำคัญไม่น้อยกว่าครู อาจารย์ คือ พฤติกรรมของนักการเมือง ผู้ปกครองประเทศที่จะเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ที่สำคัญไม่น้อยเลยเช่นกันก็คือสื่อมวลชน เพราะจะซึมซับเข้าสู่เด็กได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่รู้ตัว ยิ่งในแต่ละวันเรื่องดี เรื่องร้าย จะนำเข้ามาสู่ชีวิตเรามากมาย แล้วแต่ใครจะรับรู้และอดทนได้มากแค่ไหน ใครก็ตามหากอ่อนแอชีวิตก็จะถูกกัดกร่อนสูญค่าไป ส่วนใครที่เข้มแข็งก็จะยืนหยัดต่อสู้กับโลกสมัยใหม่ต่อไป และก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากจะรอคอยให้ใครสักคนมาเห็นใจหรือช่วยเหลือเรา ดังนั้นเราควรจะยืนหยัดทำตัวเองให้มีค่ามากที่สุดในสังคมได้ วิธีที่จะสร้างให้เกิด M.Q. นั้นก็โดยวิธี การสอนศีลธรรมโดยตรงให้กับเด็ก และถ่ายทอดคุณธรรมที่ดีงามของผู้ใหญ่ให้กับเด็ก หลายคนอาจจะคิดว่าเราเลิกสอนศีลธรรมไปนานแล้วจะเรียกกลับมาทำไม แต่ความจริงที่ปรากฏจะพบว่าคนที่อยู่ในแถบตะวันตกเริ่มเรียกหาศีลธรรมกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากเด็กนักเรียนก่อเหตุอันน่าเศร้าสลด ก็คือ ใช้อาวุธปืนยิงเพื่อนและครูในโรงเรียน ทำให้นักการศึกษา นักจิตวิทยาเริ่มให้ความสำคัญในด้านการสอนศีลธรรมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็เริ่มถ่ายทอดคุณธรรมที่ดีงามของผู้ใหญ่ที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็ก โดยพยายามจะยกย่องผู้มีคุณธรรม และให้ความสำคัญต่อการเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้คนถือเป็นแบบอย่างนำไปสู่สันติภาพของโลก มิเช่นนั้นแล้วมนุษย์จะทำลายร้างเผ่าพันธุ์ความเป็นมนุษย์ไปในที่สุด และจะไม่เหลือมนุษยชาติอีกเลย การสร้างความรัก และสร้างวินัยให้เกิดขึ้นกับเด็ก สร้างความรัก เพื่อความอบอุ่น สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้คงเส้นคงวา ไม่กดดันเด็กและให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณธรรมและอุดมด้วยความสุข สิ่งที่สำคัญคือการรู้จักให้อภัย เห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักจิตใจของผู้อื่น จะเห็นได้ว่าความรักนั้นเป็นหัวใจในการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดก็ตาม ความรักสร้างได้ง่ายไม่ต้องลงทุน แต่การสร้างวินัยเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ยาก จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝน แต่การสร้างวินัยมิใช่เป็นการฝึกให้เจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือใจก็ตาม การฝึกวินัยไม่เลือกเวลาและสถานที่ หากต้องมีการแก้ไข จำต้องกระทำทันที ไม่หมักหมม เพราะจะทำให้ฝังคราบลึก ไม่สามารถจะชำระล้างออกได้ บทความนี้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อให้เรารู้จัก M.Q. ให้มากขึ้นเพื่อจะได้มีสติที่จะก่อสร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นต่อตนเองและเด็ก เพราะขณะนี้ คุณธรรมของคนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป หากหยุดมีสติบ้างอาจจะช่วยให้สังคมดีขึ้นน่าอยู่ขึ้น ไม่ว่าจะเปลี่ยนสหัสวรรษใหม่ก็ตาม ถ้ามีคุณธรรมประจำใจแล้ว เราสามารถยังคงอยู่ได้อย่างมีความสุขที่แท้จริง อย่าให้ความสุขจอมปลอมมาเป็นเงาตามตัวอีกเลย หากเรายึดมั่นถือเป็นหลักปฏิบัติ จะเป็นมงคลชีวิตแก่ผู้ปฏิบัติไม่ว่ากาลเวลาจะผันเปลี่ยนไปอย่างไร หากมีจิตใจ มีคุณธรรมที่มั่นคงแน่นอน เราจะยังคงอยู่และประเทศก็คงอยู่ตลอดกาลเช่นกัน
 
 
 
 
 
 
 
 


ผู้เขียน : อารมณ์ คำยา
หน่วยงาน : สพป.สป.2
จันทร์ ที่ 15 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2554
เข้าชม : 2427
4 stars เฉลี่ย : 4 จาก 8 ครั้ง.


วิชาการ 5 อันดับล่าสุด

      ประเทศไทยได้อะไรบ้างจากสมาคมอาเซี่ยน 22 / ต.ค. / 2555
      ความรู้เกี่ยวกับระบบ 3G 22 / ต.ค. / 2555
      คู่มือการประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้มีวิทยฐานะและหรือเลื่อนวิทยฐานะสายงานการบริหารการศึกษา (ว.17) 18 / ต.ค. / 2555
      ความดันโลหิตสูงสาเหตุเกิดจากอะไร 18 / ต.ค. / 2555
      ภาษาไทยวันคะมำ 26 / ก.ค. / 2555


เชิญร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์จัดการความรู้
สิทธิของสมาชิก สามารถบันทึกขุมความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดาวน์โหลดได้
คลิกที่นี่สมัครสมาชิก